มะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตผู้หญิงนับล้านทั่วโลก ซึ่งอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในไทย เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ในผู้หญิงไทยพบว่ามะเร็งเต้านมถือเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับ 1 โดยจากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งในหญิงไทยทั้งหมดมีมากถึง 22.8% ที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านม และมากถึง 1 ใน 4 ของผู้หญิงไทยทั้งหมดมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม สถิตินี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการหมั่นตรวจคัดกรองประจำปีและเข้ารับการรักษามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้น ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิต เพราะปัจจุบันความก้าวหน้าด้านวิทยาการทางการแพทย์และนวัตกรรมการรักษาที่หลากหลาย จะช่วยมอบทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น กล่าวว่า “ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่ามะเร็งเต้านมไม่ได้น่ากลัวอย่างในอดีต โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นให้สามารถรักษาหายได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียทรัพยากรในการรักษามากนัก ยาแพง ๆ ก็อาจจะไม่จำเป็น นั่นคือเหตุผลที่เราให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สำหรับรายที่มีความเสี่ยงสูง”
อีกสิ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญ คือ การวินิจฉัยระยะของมะเร็ง เพราะมะเร็งรักษาหายได้ในระยะแรก และถือเป็นโชคดีที่คนไข้ส่วนใหญ่มากกว่า 60 - 70% มาพบแพทย์เมื่ออยู่ในระยะเริ่มต้น โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในทางการแพทย์แนะนำสำหรับผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อโรค ดังนั้น คนกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจคัดกรองแบบแมมโมแกรมอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะการตรวจในปีถัดไปอาจตรวจเจอเซลล์มะเร็งระยะเริ่มต้นที่กำลังพัฒนาขึ้นได้ และสำหรับสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และใช้ชีวิตตามปกติ ควรได้รับการตรวจคัดกรองอย่างน้อยสักครั้ง และหากไม่พบความผิดปกติใด ๆ อีก 2 - 3 ปี จึงค่อยรับการตรวจซ้ำ
ส่วนสาเหตุของมะเร็งเต้านม แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า มะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่หากใครสัมผัสกับฮอร์โมนเพศหญิงเป็นเวลานาน ๆ เช่น ผู้ที่ประจำเดือนมาเร็ว ผู้ที่หมดประจำเดือนช้า แต่งงานแล้วไม่มีบุตร กลุ่มนี้เรียกว่าไม่มีช่วงพักให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงสูง อีกสาเหตุที่เป็นไปได้ คือ ผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม (Genetic) คือ มียีนที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แล้วก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม (Hereditary) นับเป็นอีกกลุ่มความเสี่ยงสูง อย่างกรณีของ แองเจลิน่า โจลี ที่ตัดเต้านมทั้ง 2 ข้างออก (prophylactic mastectomy) เพราะตรวจแล้วรู้ว่าตนเองมียีนกลุ่มนี้อยู่ เพราะหากปล่อยไปจนอายุ 40 - 50 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ถึง 60 - 85% และมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ได้อีก 15 - 40% ดังนั้น การผ่าตัดเอาเต้านมทั้ง 2 ข้าง ออกจึงเป็นวิธีการป้องกันที่แนะนำสำหรับกลุ่มนี้
ผศ.พญ.เอื้อมแขยังกล่าวด้วยว่า “การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมนอกจากระยะของโรคและสาเหตุแล้ว การพยากรณ์โรคยังมีส่วนสำคัญต่อทางเลือกที่เหมาะสมในการรักษา เช่น หากมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 10 ราย มายืนเรียงกันเพื่อรับการรักษา แม้จะมีก้อนมะเร็งขนาดเท่ากัน แต่ทั้ง 10 รายนี้ จะมีการพยากรณ์ของโรคที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากระยะของโรคและชนิดของมะเร็งที่ต่างกัน”
ทั้งนี้ มะเร็งเต้านมสามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม ตามการวินิจฉัยและการพยากรณ์ของโรค 2 กลุ่มแรก คือ กลุ่ม Luminal A และกลุ่ม Luminal B 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เซลล์มะเร็งมีตัวรับ (receptor) ทางฮอร์โมน ได้แก่ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen receptor) และ/หรือตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone receptor) จึงสามารถรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับเหล่านี้ได้ ทำให้เป็นกลุ่มที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ กลุ่มที่ 3 คือกลุ่ม HER2+ เป็นกลุ่มที่มียีนก่อมะเร็งชนิด HER2 และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่ม TNBC (Triple Negative Breast Cancer) เป็นกลุ่มที่ไม่มีทั้งตัวรับทางฮอร์โมนและยีนก่อมะเร็งชนิด HER2 จึงเป็นกลุ่มที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ผู้ป่วยมีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูงและเสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น
ด้านการรักษามะเร็งเต้านมนั้น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องช่วยเพิ่มทางเลือกในการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในระยะและชนิดมะเร็งที่แตกต่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นยาต้านฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด หรือ “การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า” (Targeted Therapy) ที่เป็นการรักษามะเร็งที่กำหนดเป้าหมายการรักษาตรงไปที่เซลล์มะเร็ง เพื่อหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่จะไม่ทำอันตรายกับเซลล์ปกติ ที่ช่วยเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระหว่างรับการรักษาให้ดียิ่งขึ้นด้วย อีกทั้งแนวโน้มในปัจจุบันที่พยายามเข้าสู่วิธีการรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Personalized treatment) ให้มากที่สุด เพื่อออกแบบการรักษา รวมทั้งรับยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้น ๆ มากที่สุดโดยไม่จำกัดว่าจะต้องใช้ยาชนิดเดียว เช่น อาจใช้ทั้งยาต้านฮอร์โมนควบคู่กับยาแบบมุ่งเป้าที่สามารถเสริมประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
อีกทั้งการตรวจติดตามหลังการรักษาระยะต้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง และ “สำหรับโรคมะเร็งเต้านมนั้น หากผู้ป่วยได้รับการรักษาได้ตรงชนิดของมะเร็ง และในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงโอกาสที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาและการรักษาก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาได้ ซึ่งสิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญเช่นกัน คือ การส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาคในการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งให้กับประชาชนไทยทุกคน ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่” ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิบัตรทอง ซึ่งสิ่งที่ควรร่วมกันผลักดันต่อไป คือ การให้ยารักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะยากลุ่มที่ใช้รักษามะเร็งในระยะลุกลามหรือระยะแพร่กระจายได้เข้าไปบรรจุในบัญชียาแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งต่าง ๆ รวมทั้งมะเร็งเต้านมที่ด้อยโอกาสมีสิทธิเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม” ผศ.พญ.เอื้อมแขกล่าวปิดท้าย