
ตกขาว ภาวะที่ผู้หญิงหลายคนเคยพบเจอ แต่หลายคนอาจมองข้ามความสำคัญของ “สีตกขาว” ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสุขภาพภายใน โดยเฉพาะสุขภาพของช่องคลอดและมดลูก บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการตกขาว ตั้งแต่ความหมาย สาเหตุ สีตกขาวที่บ่งบอกถึงภาวะต่าง ๆ ไปจนถึงวิธีรักษาและป้องกัน เพื่อให้คุณผู้หญิงดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
ตกขาว คืออะไร
ตกขาว คือ สารคัดหลั่งหรือของเหลวที่ผลิตโดยต่อมบริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอดของผู้หญิง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลและความชุ่มชื้นภายในช่องคลอด โดยปกติแล้ว ตกขาวมักมีสีขาวขุ่นหรือใส ไม่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง และปริมาณอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามรอบเดือนหรือภาวะฮอร์โมนของร่างกาย แต่หากตกขาวมีสีและกลิ่นที่ผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น คัน เจ็บ หรือปวดบริเวณช่องคลอด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมทันที
ตกขาว เกิดจากอะไร?
โดยทั่วไป ตกขาวเกิดจากกระบวนการตามปกติของร่างกาย ที่ต่อมภายในช่องคลอดขับของเหลวและเซลล์ผนังช่องคลอดที่หลุดลอกออกมาก่อนจะถูกขับออกมาเป็นตกขาว แต่หากมีความผิดปกติบางอย่าง หรือได้รับเชื้อโรค เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ก็อาจส่งผลให้ลักษณะและปริมาณของตกขาวเปลี่ยนแปลงไปได้
สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
* การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา
* การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงก่อนประจำเดือนมา
* พฤติกรรมการทำความสะอาดช่องคลอดที่ไม่เหมาะสม
* การใส่ชุดชั้นในที่อับชื้นหรือไม่ระบายอากาศ
ตกขาว สีไหนบอกโรค
อาการตกขาวในผู้หญิงเป็นสิ่งที่ควรสังเกตอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะเป็นกลไกตามธรรมชาติในการรักษาสมดุลภายในช่องคลอดแล้ว ยังสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติหรือโรคต่าง ๆ ได้ โดย “สี” ของตกขาวเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ มาดูกันว่าแต่ละสีบ่งบอกอะไรได้บ้าง
ตกขาวเป็นสีขาว
ตกขาวสีขาวขุ่นหรือใส คล้ายแป้งเปียก ไม่มีกลิ่นเหม็นส่วนใหญ่เป็นตกขาวปกติ หากไม่มีอาการคันหรือระคายเคืองร่วมด้วย หากตกขาวมีลักษณะข้นเหนียว คล้ายโยเกิร์ต และมีอาการคัน อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อราในช่องคลอด ควรสังเกตกลิ่นหรือปริมาณ หากผิดปกติควรปรึกษาแพทย์
ตกขาวเป็นสีเขียว สีเหลือง
ตกขาวสีเขียวหรือเหลือง มีกลิ่นเหม็น มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจมีอาการแสบหรือคันบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย ควรเข้ารับการตรวจและรับยาฆ่าเชื้อโดยทันทีเพื่อป้องกันการลุกลาม
ตกขาวมีเลือดปนหรือสีน้ำตาล
มีเลือดผสมในตกขาว หรือมีสีน้ำตาล อาการนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ต้องได้รับการตรวจละเอียด เพราะมีโอกาสเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งปากมดลูกได้
ตกขาวสีเทา
ตกขาวสีเทา มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยต้องให้แพทย์ตรวจว่าเป็นแบคทีเรียชนิดไหน หากเป็นแบคทีเรียธรรมดา แพทย์จะให้ยา แต่ถ้าเป็นแบคทีเรียที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะให้ยาคู่นอนด้วย
ตกขาวอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
ตกขาวที่ไม่ปกติและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจลุกลามกลายเป็นการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์ ทั้งภายในและภายนอก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การอักเสบของปากมดลูก โรคในอุ้งเชิงกราน รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
วิธีรักษาอาการตกขาว
หากพบว่าตกขาวผิดปกติเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ส่วนในกรณีที่เป็นเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แพทย์จะแนะนำให้รักษาควบคู่ไปกับคู่นอนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายหรือกลับมาติดเชื้อซ้ำ หากความผิดปกติเกิดจากเชื้อรา แพทย์จะใช้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งอาจเป็นยารับประทานหรือยาสอด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่สังเกตเห็นความผิดปกติแล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เข้ารับการรักษา มีความเสี่ยงที่อาการจะลุกลาม โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากเชื้อรุนแรงอย่างโรคหนองใน หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังอุ้งเชิงกรานจนทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงได้ จึงควรรีบพบแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติเพื่อรักษาอย่างถูกต้องและป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว
วิธีป้องกันอาการตกขาว
รักษาความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้น ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยน หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดหากไม่จำเป็น
สวมใส่ชุดชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี ควรเลือกเนื้อผ้าที่เบาสบาย และไม่อับชื้น เช่น ผ้าฝ้าย
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ งดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น
ต
รวจสุขภาพประจำปี ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหากเริ่มมีอาการผิดปกติ
ตกขาวเป็นกลไกทางธรรมชาติที่สำคัญในการรักษาความชุ่มชื้นและสมดุลในช่องคลอด แต่ก็สามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน หากเราสังเกตเห็นสี กลิ่น หรือลักษณะของตกขาวที่เปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที ที่สำคัญควรดูแลสุขอนามัยในชีวิตประจำวันให้ดี ทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ สวมใส่ชุดชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี และไม่ละเลยการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าร่างกายจะแข็งแรงและปลอดภัยจากโรคที่อาจเกิดตามมาได้ในระยะยาว
ขอบคุณข้อมูลจาก
รศ. พญ.อรวี ฉินทกานันท์
สาขาวิชาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7