
เคล็ดลับบรรเทาไมเกรน แก้ปวดหัวด้วยวิธีธรรมชาติ
ไมเกรน (Migrain) คือ โรคที่เกิดจากการบีบและคลายตัวของหลอดเลือดแดงผิดปกติ โดยมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ฮอร์โมน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาหารบางชนิด ส่งผลให้ปวดหัวและอาจมีอาการร่วม เช่น ตาพร่ามัว คลื่นไส้ หรืออาเจียน ซึ่งนอกจากการรักษาเบื้องต้นด้วยยาแก้ปวดแล้ว ยังสามารถรักษาได้ด้วยวิธีธรรมชาติที่ปลอดภัยในระยะยาว ดังนี้
1. การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดอาการไมเกรน เพราะการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ หรือการนอนหลับไม่เป็นเวลาอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ โดยการนอนหลับที่เหมาะสมควรมีระยะเวลา 7 - 8 ชั่วโมงต่อคืน และควรเข้านอนและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน แม้ในวันหยุด ซึ่งการสร้างบรรยากาศห้องนอนให้สงบ มืด และเงียบ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จะช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น
2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดความเครียด และเพิ่มสารเอ็นโดรฟินในร่างกาย ซึ่งช่วยลดความถี่ของอาการไมเกรนได้ การออกกำลังกายที่เหมาะสมควรเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงไม่หนักจนเกินไป เช่น เดินเร็ว โยคะ หรือปั่นจักรยาน โดยควรทำอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และ 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักเกินไป เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ในผู้ป่วยบางคน
3. การจัดการความเครียด
ความเครียดเป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นไมเกรนที่พบบ่อยที่สุด การเรียนรู้วิธีจัดการความเครียดจะช่วยลดโอกาสการเกิดไมเกรนได้ ดังนั้น การฝึกการทำสมาธิหรือการหายใจลึกๆ เพื่อผ่อนคลายจิตใจ รวมถึงการฝึกโยคะ ก็ถือเป็นวิธีบรรเทาอาการปวดไมเกรนที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การใช้เวลาทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือทำสวน ก็สามารถช่วยลดความเครียดในชีวิตประจำวัน และลดอาการปวดไมเกรนได้เช่นเดียวกัน
4. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นไมเกรน
ปัจจัยกระตุ้นไมเกรนล้วนแตกต่างกันไปในแต่ละคน การสังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้สามารถช่วยลดอาการได้ ตัวอย่างปัจจัยกระตุ้นที่พบบ่อย ได้แก่ แสงจ้า เสียงดัง หรือกลิ่นแรง เช่น น้ำหอม หรือควันบุหรี่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอากาศหรืออุณหภูมิ อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต คาเฟอีน แอลกอฮอล์ ผงชูรส หรืออาหารหมักดอง ก็อาจกระตุ้นอาการไมเกรนได้ ดังนั้นการจดบันทึกอาการไมเกรนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้คุณค้นหาสาเหตุที่กระตุ้นอาการ และสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นได้

5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ลดปวดไมเกรน
ปวดไมเกรน กินอะไรหาย ? หลายคนที่มีอาการปวดไมเกรนบ่อยครั้งอาจจะเคยตั้งคำถาม และพยายามหาอาหารเสริมมาช่วยบรรเทา แต่รู้หรือไม่ว่าเพียงรับประทานอาหารที่ดีมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพก็สามารถลดความเสี่ยงของไมเกรนได้ ควรหลีกเลี่ยงการข้ามมื้ออาหาร เพราะอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและอาจเป็นการกระตุ้นไมเกรนได้ นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว เมล็ดพืช ถั่ว และกล้วย เพราะแมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีคุณสมบัติช่วยลดการหดเกร็งกล้ามเนื้อของหลอดเลือด จึงช่วยลดโอกาสของการเกิดไมเกรนได้
6. การประคบร้อนหรือเย็น
การประคบร้อนหรือเย็นสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้ การใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นหรือห่อน้ำแข็ง ประคบบริเวณหน้าผากหรือขมับประมาณ 15 - 20 นาที จะช่วยลดอาการปวดหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากปวดหัวจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ การใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือแผ่นประคบร้อนวางบริเวณต้นคอจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดอาการปวดได้
7. นวดลดไมเกรน
การนวดช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงตัว เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด หรือการนวดเบาๆ บริเวณขมับ ต้นคอ และไหล่สามารถช่วยลดอาการปวดหัวไมเกรนได้ นอกจากนี้ การใช้เทคนิคการกดจุด (Acupressure) โดยกดเบาๆ บริเวณจุดที่ปวดก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. การใช้กลิ่นบำบัด (Aromatherapy)
กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยบางชนิดสามารถช่วยลดความเครียดและบรรเทาไมเกรนได้ เช่น ลาเวนเดอร์ เปเปอร์มินต์ หรือโรสแมรี่ มีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายและลดอาการปวดหัว การใช้น้ำมันหอมระเหยทาบริเวณขมับหรือสูดดม หรือใช้เครื่องพ่นไอน้ำพร้อมน้ำมันหอมระเหยในห้องนอน จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและลดความเครียดได้
9. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
การปรับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันสามารถช่วยลดความถี่ของไมเกรนได้ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน จัดท่าทางการนั่งหรือยืนให้เหมาะสม เพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่
การลดอาการปวดหัวไมเกรนด้วยวิธีธรรมชาติไม่เพียงช่วยลดอาการปวดได้อย่างปลอดภัย แต่ยังช่วยปรับสมดุลของร่างกายและจิตใจในระยะยาว การดูแลสุขภาพอย่างครบถ้วนทั้งการพักผ่อน การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และการจัดการความเครียด จะช่วยให้คุณห่างไกลจากอาการไมเกรนได้อย่างยั่งยืน หากลองวิธีธรรมชาติแล้วยังไม่สามารถบรรเทาอาการได้ หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
ผู้เขียน
นพ.ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท
ที่มา โรงพยาบาลวิมุต
https://www.vimut.com/article/Tips-for-Migraine-Relief