วัดความดันโลหิตอย่างไรให้ถูกต้อง?

การวัดความดันช่วยลดความเสี่ยงโรค NCDs ได้อย่างไร?
ความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคในกลุ่ม NCDs (Non-Communicable Diseases) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ/แตก โรคไตวายเรื้อรัง หลายครอบครัวมักมี “เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติชนิดวัดที่ต้นแขน” ไว้ดูแลสุขภาพที่บ้าน ซึ่งการวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว และสามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ได้ อย่างไรก็ตามการวัดความดันโลหิตอาจเป็นสิ่งที่ดูเรียบง่าย แต่หากทำไม่ถูกต้อง ตัวเลขที่ได้อาจคลาดเคลื่อน ทำให้เราประเมินสุขภาพตัวเองผิดพลาดได้ ดังนั้น การวัดความดันโลหิตที่ถูกวิธีเป็นเรื่องสำคัญ มาดูวิธีและข้อควรระวังกันค่ะ!


ขั้นตอนการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง
1. เตรียมตัวก่อนวัดความดัน
- หากปวดปัสสาวะ แนะนำให้ไปปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน
- ก่อนทำการวัดอย่างน้อย 30 นาที ให้งดดื่มชา กาแฟ และสูบบุหรี่ เพราะสารกระตุ้นเหล่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตสูงชั่วคราว
- สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแขน เพื่อให้วัดค่าได้แม่นยำ
2. ท่านั่งขณะวัดความดัน
- นั่งตัวตรง บนเก้าอี้ โดยหลังชิดพนักพิง
- วางเท้าทั้งสองข้างราบกับพื้น ห้ามไขว่ห้าง
- วางแขนข้างที่วัดบนโต๊ะ ให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
3. วิธีใช้เครื่องวัดความดัน
- สวมปลอกวัดบริเวณต้นแขนให้แน่นพอดี (ไม่หลวมหรือคับเกินไป)
- พักนิ่ง ๆ สัก 3-5 นาที ก่อนเริ่มวัด
- วัดซ้ำ 2 ครั้งเพื่อความแม่นยำ โดยทิ้งระยะห่างระหว่างการวัดประมาณ 1 นาที


คำแนะนำเพื่อให้ได้ค่าความดันที่แม่นยำ
-ไม่พูดคุยหรือขยับตัวขณะวัด เพราะจะทำให้ค่าความดันผิดเพี้ยน
- อย่าวัดความดันทันทีหลังออกกำลังกาย ในช่วงที่เหนื่อย หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก
- บันทึกค่าความดันทั้งเช้าและเย็น วันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่อง 7 วัน ก่อนพบแพทย์


ปัจจุบันเครื่องวัดความดันโลหิตจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป ไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลาก ซึ่งผู้ที่ต้องการผลิตหรือนำเข้าจะต้องดำเนินการการจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ และกรณีนำเข้าหลังจากจดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์แล้ว ต้องดำเนินการขอหนังสือรับรองประกอบการนำเข้าด้วย ส่วนกรณีผลิตในประเทศหลังจากจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์แล้ว ก็สามารถดำเนินการผลิตได้


ข้อมูลอ้างอิง
ความดันต้องวัด ควบคุมให้ดี ชีวียืนยาว. คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. (2024). Retrieved Jan 15, 2025, from
เครื่องวัดความโลหิต . คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2013). Retrieved Jan 15, 2025, from
โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) .คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. (2024). Retrieved Jan 15, 2025, from
คุณเป็นความดันโลหิตสูงรึเปล่า?. โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. (2024). Retrieved Jan 15, 2025, from