รู้ทันโรค 'สมองติดยา'!!

จากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดการทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่ตามมาสำคัญที่สุดย่อมทำให้สภาวะทางจิตอารมณ์ของผู้คนผันผวนปรวนแปรไป ความเครียดที่ก่อเกิดและประดังเข้ามา ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะหันเข้าหาสิ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดความสุข ความว่างเปล่า ไร้ซึ่งความทุกข์
          แน่นอนอย่างยิ่ง “ยาเสพติด” คือ ประตูทางออกทางหนึ่งที่คนเหล่านั้นปรารถนา และเมื่อเกิดการทดลองไขว่คว้าหามาเสพแล้ว ก็ต้องไขว่คว้าหามาอีก จนนำไปสู่ความเคยชินกระทั่งเป็นอาการป่วยทางจิต ที่เรียกว่า “สมองติดยา” ในที่สุด
          ภาวะ “สมองติดยา” คือ ช่วงเวลาที่สมองในส่วนที่คิดด้วยสติปัญญา คิดด้วยความมีเหตุผล (Prefrontal Cortex) เกิดความสมดุลกับสมองส่วนอยาก (Brain Reward Pathway) ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ และความอยาก ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นจนนำพาไปสู่ความอยากยา จำเป็นต้องหาเพื่อนำมาเสพ เมื่อเสพแล้วจะมีความสุข ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิตอย่างรุนแรง
          เพราะสารเสพติดจะไปกระตุ้นสมองแบบเรื้อรัง ทำให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เนื่องจากสมองส่วนอยากจะดื้อต่อสิ่งกระตุ้นเร้าที่ให้ความสุขใจตามธรรมชาติ ทำให้ผู้เสพติดยาเกิดความเบื่อหน่าย แต่สมองส่วนอยากนี้จะไวต่อสารเสพติด ทำให้เกิดพฤติกรรมหมกมุ่นต่อการเสพยา ผลที่ตามมา คือ สมองส่วนคิดแย่ลง ทำอะไรไปตามความอยาก ขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึมเศร้า แปรปรวน เซลล์สมองฝ่อ สติปัญญาแย่ลง กลายเป็นโรคสมองเสื่อมในที่สุด

          พ.อ.นพ.พิชัย แสงชาญชัย จิตแพทย์ กองจิตเวชกรรมประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ภาวะสมองติดยานี้ มีระยะเวลาในการป่วยของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับชนิดของสารเสพติดแต่ละตัว ไม่สามารถระบุเจาะจงได้ อีกทั้งมีปัจจัยแทรกซ้อนต่าง ๆ มากมาย อาทิ ตัวบุคคล พันธุกรรม แรงกดดันทางสังคม ตลอดจนค่านิยมที่ผิด ๆ
          โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นเร้าจากภายนอก ผสมผสานกับแรงกระตุ้นเร้าจากภายใน ซึ่งแรงกระตุ้นเร้าจากภายนอก ได้แก่ อุปกรณ์การเสพ สถานที่เสพ เพื่อนที่เสพ แหล่งขาย ผู้ค้า ผู้ซื้อยา สถานบันเทิง วันที่เคยเสพ เงิน และโทรศัพท์มือถือ ส่วนแรงกระตุ้นเร้าภายใน คือ อารมณ์เป็นทุกข์และสุข รวมถึงอารมณ์ทางเพศ และที่สำคัญ บางคนมีความเข้าใจในเรื่องผิด ๆ โดยมีการนำยาเสพติดมาใช้ในการลดความอ้วน
          ด้านการรักษาผู้ป่วยสมองติดยานั้น จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 1 - 2 ปี ขึ้นอยู่กับสารแต่ละชนิดที่ผู้ป่วยเสพ ส่วนระยะยาวนั้นมีการผสานจิตสังคมบำบัดที่มีประสิทธิภาพเพิ่มเข้าไป เนื่องจากโรคติดยาเป็นโรคเรื้อรัง จึงจำเป็นต้องสร้างทัศนคติที่ดี ปรับฐานความผูกพันทางพื้นฐานครอบครัวและสังคมเสียใหม่
          ปัจจุบันโรคยาเสพติดที่นำไปสู่ภาวะสมองติดยานั้น คนทั่วไปมักคิดว่ารักษาไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วสามารถรักษาได้ โดยจะมีการนำยาปฏิชีวนะเข้าช่วยในการรักษาร่วมกับทางจิตเวช  เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม โดยขั้นตอนในการบำบัดนั้นมีกระบวนการ 4 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ จะเป็นการประเมินและสร้างความจูงใจ ขั้นถอนพิษยา เป็นการรับผู้ป่วยในระยะเวลา 2 - 4 สัปดาห์ ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ระยะเวลาขั้นต่ำ 4 - 6 เดือน และ ขั้นตอนติดตามผล จะใช้เวลาติดตามผลและช่วยเหลือ 1 - 2 ปี
          “ในกระบวนการรักษานี้ ช่วง 1 เดือนแรก จะเฝ้ารักษาใกล้ชิดในโรงพยาบาล หลังจากนั้นจะให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ แล้วมาพบแพทย์ตามกำหนดนัด เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยในทุก ๆ ปีจะมีคนไข้เข้ามาทำการรักษาทั้งสิ้น ประมาณ 2 - 3 พันคน โดยมีช่วงอายุตั้งแต่ 18 - 50 ปี โดยยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดมาก คือ ยาบ้า เฮโรอีน กัญชา สารระเหย โดยกลุ่มพวกติดยาไอซ์ ยาโค้ก ยังมีเป็นส่วนน้อย ซึ่งในการบำบัดเสร็จสิ้นจะได้ผลสัมฤทธิ์ประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์ เลิกได้ขาด ส่วนอีก 28 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่สามารถเลิกได้นั้น มักมีผลกระทบทางด้านจิตใจ ขาดครอบครัวที่อบอุ่น ร่างกายและจิตใจไม่เข้มแข็งพอ”
          พ.อ.นพ.พิชัยกล่าวต่อว่า การรักษาภาวะสมองติดยาที่ยั่งยืนที่สุด คือ การที่เราควรหาทางออกที่สร้างสรรค์ แม้สภาพสังคมจะเครียดเพียงใด การไประบายออกด้วยสุรา ยาเสพติด เป็นแค่เพียงความสุขชั่วครั้งชั่วคราว ก่อนจะนำพาความทุกข์เข้ามาเป็นมรสุมชีวิต ฉะนั้น ความสุขที่ยั่งยืน คือ การไขว่คว้าหาธรรมชาติ ธรรมะ กีฬา ศิลปะและดนตรี จะช่วยให้เราเข้าถึงความสุขที่จีรัง อีกทั้งไม่เป็นผลเสียต่อร่างกายด้วย

          ด้าน ธนิษฐา นาคิน ที่ปรึกษาด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในภาวะปัจจุบันพฤติกรรมของผู้เสพยาเสพติดมีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าในอดีต ทำให้มีจำนวนผู้ติดยาเพิ่มมากขึ้นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งสาเหตุการเสพสารเสพติดก็มีมากขึ้นหลากหลายเรื่องราวด้วย ทั้งภาวะด้านครอบครัว ความรัก การทำงานและภาวะทางสังคม ทำให้จำนวนผู้ติดยาเข้ามาบำบัดเพิ่มมากขึ้นด้วย
          แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัด คือ การบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากแพทย์บำบัดผู้ติดยาได้ทาง ร่างกายเท่านั้น แต่ทางจิตใจและสังคมไม่ได้มีการบำบัดหรือดูแลเท่าที่ควร
          “ครอบครัวเป็นพื้นฐานของปัญหาต่าง ๆ การติดยาเสพติดก็เช่นกัน แต่จะทำอย่างไร หากคนติดยามาบำบัดแล้วก็ยังอยู่กับครอบครัวเช่นเดิม ดังนั้น แพทย์จะค้นหาสาเหตุ บางกรณีต้องนำครอบครัวมาบำบัดด้วย เพราะมีส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้คนในครอบครัวนั้นเลิกเสพยาได้
          ปัจจุบันผู้เสพยาเสพติดมักจะคิดว่า เขาไม่ติดยาและสามารถเลิกเองได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง การเสพยาอย่างต่อเนื่องจะเกิดภาวะที่เรียกว่า สมองติดยา หรือ โรคสมองติดยา โดยสารในตัวยาจะเข้าไปทำลายสมองส่วนความคิดทำให้สมองอีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า ส่วนอยาก มีอิทธิพลเหนือกว่า ผู้ติดยาจึงต้องดิ้นรนแสวงหา หรือ โรคแสวงหา จนแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา”
         สำนักงาน ป.ป.ส. จึงเสนอให้มีวิธีการที่จะบำบัดผู้ติดยาเสพติดทางจิตใจและสังคมด้วย เนื่องจากการเสพยาอย่างต่อเนื่อง จะเกิดภาวะที่เรียกว่า สมองติดยา หรือ โรคสมองติดยา เราจะมีการนำจิตแพทย์เข้ามาดูแลการบำบัดทางจิตใจและสังคม โดยพูดคุยเพื่อค้นหาว่าผู้เสพติดเหล่านี้มีสาเหตุใดต้องใช้ยาเสพติด พร้อมทำให้เขารู้ตัวให้ได้ว่าต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเดิม จึงจะสามารถหลุดจากวงโคจรยาเสพติดได้
          ซึ่งสาเหตุทางจิตใจนั้นมีหลักใหญ่ ๆ อยู่ เช่น ปัญหาครอบครัวขาดความอบอุ่น ความด้อยโอกาสในสังคม ความยากจน เป็นต้น ดังนั้น แพทย์จะค้นหาสาเหตุ บางกรณีต้องนำครอบครัวมาบำบัดด้วย เพราะมีส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้คนในครอบครัวนั้นเลิกเสพยาได้

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
 : http://www.thaihealth.or.th/node/10018
 : https://www.sdtc.go.th › paper