พบให้วิตามิน ซี ผ่านทางหลอดเลือดกับผู้ป่วยติดเชื้อในเลือดอันตราย!

วารสาร The New England Journal of Medicine เผยแพร่การศึกษาการให้วิตามิน ซี ในปริมาณสูง (high dose) ผ่านทางหลอดเลือดเข้าสู่ร่างกาย (intravenous vitamin C) กับคนไข้ผู้ใหญ่รักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ในห้อง I.C.U. และผลการศึกษาไม่สามารถสรุปได้ว่าการให้วิตามิน ซี ทางหลอดเลือดเป็นวิธีที่ดี เพราะมีความเสี่ยงอวัยวะภายในล้มเหลว และอาจรุนแรงถึงชีวิต
          ทั้งนี้ Sepsis คือ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในร่างกาย แล้วทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือต่อพิษของเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในอวัยวะภายในของร่างกาย หากมีความรุนแรงมากขึ้นอาจพัฒนาไปสู่ภาวะช็อกและทำให้การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายต่าง ๆ ล้มเหลว ซึ่งมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และเป็นสาเหตุหรือปัจจัยร่วมของผู้ป่วยมากถึง 11 ล้านคนทั่วโลก ในแต่ละปี
          ขั้นตอนหนึ่งของการบำบัดนั้น ผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำให้เพียงพอและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ และสารน้ำหนึ่งที่ใช้กัน คือ วิตามิน ซี เนื่องจากสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ในวิตามิน ซี ช่วยบรรเทาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ และร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างวิตามิน ซี ขึ้นมาได้ และมักอยู่ในระดับต่ำเวลาที่เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยรุนแรง
          การศึกษาระดับ international trial ที่รวบรวมข้อมูลจากห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (I.C.U.) 35 แห่ง ใน 3 ประเทศคือ แคนาดา ฝรั่งเศส และนิวซีแลนด์ นี้ คณะวิจัยใช้ข้อมูลของคนไข้อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักรักษาตัวในห้อง I.C.U. นานไม่เกิน 24 ชั่วโมง เป็นคนไข้ที่ได้รับการยืนยันหรือสงสัยว่าเป็น Sepsis และได้รับยากระตุ้นความดันโลหิต ทั้งหมด 863 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับวิตามิน ซี (50 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) 429 คน และกลุ่มรับยาหลอก (ทุก 6 ชั่วโมง นาน 96 ชั่วโมง) 434 คน ระยะเวลาติดตามผล 28 วัน
          ผู้ศึกษากำหนดภาวะที่ผู้ป่วยได้รับยากระตุ้นความดันโลหิต ใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือได้รับการบําบัดทดแทนไต (renal replacement therapy) เป็นผลลัพธ์หลัก (primary outcome) ที่เรียกว่า composite of death หรือ persistent organ dysfunction
          ผลลัพธ์ที่ได้ในวันที่ 28 คนไข้กลุ่มวิตามิน ซี 44.5% มีอาการ composite of death หรือ persistent organ dysfunction เทียบกับ 38.5% ของกลุ่มยาหลอก จึงอภิปรายผลว่า ผลลัพธ์ถึงชีวิตเกิดขึ้นในกลุ่มวิตามิน ซี ถี่กว่ากลุ่มยาหลอก ซึ่งเป็นผลที่แตกต่างจากการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis วิธีการทางสถิติที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบและรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยต่าง ๆ) ของการบำบัดด้วยวิตามิน ซี เพียงอย่างเดียวที่ทำกันมาก่อนหน้าที่ศึกษาจากกลุ่มทดลองขนาดเล็ก 2 กลุ่ม และใช้เกณฑ์การประเมินอวัยวะล้มเหลวจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (SOFA scores) เป็นหลัก มิได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงถึงชีวิตอื่น ๆ และหนึ่งกลุ่มในนั้นเฉพาะเจาะจงที่การให้วิตามิน ซี เพื่อบำบัดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่ทำให้ปอดได้รับบาดเจ็บเฉียบพลัน
          คณะวิจัยจึงสรุปผลการศึกษาว่า ผู้ป่วย Sepsis และได้รับยากระตุ้นความดันโลหิตใน I.C.U. และ/หรือได้รับการให้วิตามินชนิดน้ำทางหลอดเลือดมีความเสี่ยงสูงที่อวัยวะภายในของร่างกายล้มเหลว หรืออาจถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิต
          ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดอาการอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว รวมถึงการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ มักใช้ Hydrocortisone, Ascorbic Acid (วิตามิน ซี) และ Thiamine (วิตามิน บี) ร่วมกัน เรียกว่า HAT Therapy ซึ่งช่วยฟื้นฟูการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติได้

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล:
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2021/what-causes-sepsis#5
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2200644?query=featured_home
DOI: 10.1056/NEJMoa2200644