โดย เมดไทย ปรับปรุงเมื่อ 22 กันยายน 2020 (เวลา 23:00 น.)
อบเชยเถา ชื่อวิทยาศาสตร์ Atherolepis pierrei Costantin จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]
สมุนไพรอบเชยเถา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเขาใหม่ (แพร่), เชือกเถา (นครสวรรค์), อบเชยป่า (กรุงเทพฯ), กำยานเครือ เครือเขาใหม่ เถาเชือกเขา (ภาคเหนือ), จั่นดิน กู๊ดิน (ภาคอีสาน), อบเชยเถา (ภาคกลาง), ตำยาน เป็นต้น[1],[2]
หมายเหตุ : ต้นอบเชยเถาที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นอบเชยเถาที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zygostelma benthamii Baill.
ลักษณะของอบเชยเถา
- ต้นอบเชยเถา จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก เลื้อยพันต้นไม้อื่นหรือเลื้อยไปตามพื้นดิน มีความยาวได้ประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นหรือเถามีขนสั้นและมีน้ำยางสีขาว เปลือกมีช่องระบายอากาศรูปไข่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เถามีลักษณะกลมเรียว สีน้ำตาลเทาถึงสีน้ำตาลม่วง ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.3-2 มิลลิเมตร ส่วนรากมีกลิ่นหอมคล้ายเปลือกอบเชยต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการทาบเถา (อีกข้อมูลระบุว่า ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและการปักชำ[5])เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด พบขึ้นทั่วไปในทุกภาคของประเทศตามชายป่า[1],[2],[3]
- ใบอบเชยเถา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-2.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มหรือสีน้ำเงิน ลายเส้นใบเป็นสีขาว มองเห็นได้ชัดเจน ใบมีกลิ่นเหม็นเขียว มียางสีขาวข้น ก้านใบมีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และมีขน ส่วนหูใบนั้นจะสั้นมาก ใบอ่อนจะมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นใบ แล้วขนนั้นจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปเมื่อใบแก่[1],[2]
- ดอกอบเชยเถา ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบ ช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 5-6 ดอก กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองอมส้ม ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีชมพูอ่อนหรือชมพูอมส้ม โคนกลีบดอกชิดติดกันเป็นรูปถ้วยหรือเป็นท่อสั้น ๆ ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กลีบดอกจะบิดไปในทางเดียวกัน เมื่อดอกบานจะกางออกแบบดอกมะเขือ มีขนขึ้นประปรายทั้งด้านในและด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้ติดอยู่กับผนังใจกลางดอก โดยมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูเป็นรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ปลายแหลม ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน ปลายเกสรจะใหญ่กว่าท่อเกสร และมีลักษณะเป็นรูปห้าเหลี่ยม ปลายแหลมสั้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[2],[3],[4]
- ผลอบเชยเถา ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ยาว ติดกันเป็นคู่ ผิวผลเนียน มีร่องเป็นแนวตามยาว ผลมีขนาดยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด[1]
สรรพคุณของอบเชยเถา
- รากใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (ราก)[1]
- รากมีสรรพคุณช่วยทำให้ชุ่มชื่นกระปรี้กระเปร่า (ราก)[1]
- รากใช้ปรุงเป็นยาหอม ช่วยแก้ลมวิงเวียนศีรษะ รักษาอาการหน้ามืดตาลาย (ราก) [1],[2]
- รากใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ (ราก)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการปวดมวนในท้อง (ราก)[1]
- ใช้เป็นยาแก้บิด แก้ท้องเสีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) (วนิดา, 2536)
- รากนำมาต้มกับน้ำ อบไอน้ำ แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน (ราก)[5]
ประโยชน์ของอบเชยเถา
- ผลอ่อนใช้รับประทานได้ โดยนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก[3],[4]
-ใช้เป็นอาหารสัตว์จำพวกแทะเล็ม เช่น โค กระบือ โดยคุณค่าทางอาหารจะประกอบไปด้วย โปรตีน 11.9%, แคลเซียม 2.01%, ฟอสฟอรัส 0.2%, โพแทสเซียม 1.66%, ADF 23.8%, NDF 26.9%, DMD 78.6%, แทนนิน 3.99%[4]
เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “อบเชยเถา”. หน้า 151.
2.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “อบเชยเถา”. หน้า 835-836.
3.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง,สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “อบเชยเถา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 ก.ย. 2014].
4.สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “อบเชยเถา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [21 ก.ย. 2014].
5.ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “อบเชยเถา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [22 ก.ย. 2014].
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://medthai.com
ภาพประกอบ : www.magnoliathailand.com, www.baanmaha.com, https://www.samunpri.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)