กรมควบคุมโรค เตือนช่วงนี้ฝนตกหนักหลายพื้นที่ ไม่เดินลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงป่วย โรคไข้ฉี่หนู

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนช่วงนี้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน อาจติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนู หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทหรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เมื่อลุยน้ำย่ำโคลนเสร็จต้องรีบทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือ ล้างเท้า ด้วยสบู่และน้ำสะอาดโดยเร็ว


วันนี้ (4 กรกฎาคม 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่และมีน้ำท่วมขัง ซึ่งอาจมีเชื้อโรคไข้ฉี่หนูปนเปื้อน หากประชาชนเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วย 1,458 ราย เสียชีวิต 17 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 45-54 ปี (20.44%) รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี (19.55%) และมากกว่า 65 ปี (18.45%) ตามลำดับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 33.5 ไม่ทราบอาชีพหรือในปกครอง ร้อยละ 26.7 อาชีพรับจ้างร้อยละ 17.1 โรคนี้มักพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน
โรคไข้ฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปราที่ปนออกมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ไหลลงสู่แหล่งน้ำ หรือแอ่งน้ำขัง ดินโคลนที่ชื้นแฉะ เชื้อนี้สามารถไชเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม มีบาดแผล หรือผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปาก จากการที่ประชาชนลงแช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำดินโคลน โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน หลังจากติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด จนเสียชีวิตในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า


นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการระยะแรกของโรคไข้ฉี่หนูจะคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นจึงพบว่าผู้ป่วยหลายรายเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ล่าช้า เนื่องจากซื้อยารับประทานเอง ซึ่งเป็นสาเหตุ​สำคัญของการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วยและสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำหรือย่ำโคลน ให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้รวดเร็ว
ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำที่ท่วมขังนานๆ เพราะอาจได้รับเชื้อไข้ฉี่หนูได้ 2) หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง เมื่อต้องสัมผัสน้ำที่ท่วมขัง ดินที่ชื้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำท่วม 3) หลังลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำท่วมขัง ให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที 4) หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว หรือปวดกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำท่วมขัง 1-2 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ เพื่อการตรวจรักษาที่รวดเร็วซึ่งช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากเข้ารับ การรักษาภายใน 1-2 วัน หลังเริ่มป่วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422