กรมวิทย์ฯ เตือนให้ระวังแมลง สัตว์ และสัตว์ขาข้อที่ควรระวังในช่วงฤดูฝน พร้อมแนะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากสัมผัส หรือโดนกัด

- ยุง เมื่อยุงกัด เกิดผื่นคัน ให้ล้างบริเวณที่ถูกกัดด้วยสบู่และน้ำสะอาด หากเกิดอาการแพ้ รับประทานยาแก้แพ้ เมื่อมีไข้สูง ปวดตามร่างกายให้รีบไปพบแพทย์
- แมลงสาบ หากสัมผัส แล้วเกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง รับประทานยาแก้แพ้ เมื่อมีอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์
- แมลงวัน แมลงวันนำเชื้อโรคอุจจาระร่วง ให้ดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อท้องร่วง หากอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ กรณีมีแผลระมัดระวังอย่าให้แมลงวันตอมแผล
- มด ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่ถูกกัดหรือต่อย และพยายามรักษาความสะอาดโดยไม่ไปแกะเกา ถ้าปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวด
- ผึ้ง ต่อ แตน ค่อยๆ ดึงเหล็กในออกจากแผล ล้างแผลให้สะอาดแล้วประคบด้วยน้ำแข็ง ใช้ยาลดการอักเสบ สำหรับทาภายนอก ทาบริเวณที่ถูกพิษ รับประทานยาแก้ปวดแก้ไข้ ถ้ามีความผิดปกติที่ระบบหายใจให้รีบไปพบแพทย์
- เห็บ หมัด ไร ริ้น ล้างแผลให้สะอาด ใช้ยาลดการอักเสบ สำหรับทาภายนอก ทาบริเวณที่ถูกกัด
- ทาก ถ้าถูกกัดและดูดเลือด ห้ามดึงทากออกทันที เพราะจะทำให้เนื้อฉีกและเป็นแผลใหญ่ ให้ใช้น้ำเกลือ น้ำส้มสายชูหรือแอลกอฮอล์ หยอดบริเวณปากทาก จะทำให้ทากหลุดได้ จากนั้นให้ล้างแผลให้สะอาด ใช้ยาลดการอักเสบ สำหรับทาภายนอก ทาบริเวณที่ถูกกัด
- ปลิง ล้างแผลให้สะอาด ใช้ยาลดการอักเสบ สำหรับทาภายนอก ทาบริเวณที่ถูกกัด ถ้าปลิงเข้าร่างกายให้รีบไปพบแพทย์
- ตะขาบ แมงป่อง ล้างแผลให้สะอาดแล้วประคบด้วยน้ำแข็ง ใช้ยาลดการอักเสบ สำหรับทาภายนอก ทาบริเวณที่ถูกพิษ รับประทานยาแก้ปวดแก้ไข้ ถ้ามีความผิดปกติที่ระบบหายใจให้รีบไปพบแพทย์
- ด้วงก้นกระดก เมื่อด้วงก้นกระดกถูกตัว อย่าบี้หรือตี เมื่อเกิดแผล ล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด ถ้ามีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน ให้ทาด้วยคาลาไมน์ ใช้ยาลดการอักเสบ สำหรับทาภายนอก ทาบริเวณที่ถูกพิษ รับประทานยาแก้ไข้
- ด้วงน้ำมัน ถ้าผิวหนังสัมผัสกับพิษ ล้างแผลให้สะอาดแล้วประคบด้วยน้ำแข็ง ใช้ยาลดการอักเสบ สำหรับทาภายนอก ทาบริเวณที่ถูกพิษ แต่ถ้าได้รับพิษจากการรับประทานให้รีบไปพบแพทย์ทันที