10 เทคนิคในการเอาใจใส่ดูแลผู้สูงวัยให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และจิตใจเบิกบาน

ปัญหาสุขภาพที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ อุบัติเหตุหกล้ม การเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ภาวะซึมเศร้า และความจำเสื่อม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งสิ้น วันนี้ ขอนำเสนอ 10 วิธีการดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคภัย และมีความสุขกายสบายใจในบั้นปลายของชีวิต
1. จัดเตรียมอาหารที่มีประโยชน์ รสชาติถูกปาก
อาหารของผู้สูงวัยควรเน้นคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ไม่หวานหรือเค็มจัด เน้นอาหารอ่อนนุ่ม รับประทานและย่อยง่าย เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา และธัญพืช โดยปรุงให้มีรสชาติอร่อยน่ารับประทาน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่


2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ผู้สูงวัยควรออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อและกระดูก ช่วยเผาผลาญไขมัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉง เช่น เดินเร็ว การออกกำลังกายแบบไม่หักโหม หรือโยคะ แต่หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย


3. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุมักจะทำกิจกรรมน้อยลง อาจทำให้น้ำหนักเกินเกณฑ์ได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันอุดตันในเส้นเลือด ดังนั้น ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม


4. พาไปตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติของร่างกาย ระดับไขมัน น้ำตาล และการทำงานของอวัยวะต่างๆ เพื่อจะได้วางแผนป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที


5. ปรึกษาแพทย์เรื่องโรคประจำตัวและการใช้ยา
หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดถึงอาการ วิธีดูแล ข้อควรระวัง รวมถึงการรับประทานยาให้ถูกต้องตามหมอสั่ง อย่าซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้


6. จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก
บ้านที่มีสุขอนามัยดี ปราศจากสิ่งสกปรก มีการระบายอากาศที่ดี จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย ห่างไกลโรคระบบทางเดินหายใจ ควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท หรือติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ


7. หากิจกรรมให้ผ่อนคลาย
การมีกิจกรรมที่ชื่นชอบจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกเพลิดเพลิน ไม่เหงา ไม่ซึมเศร้า เช่น ไปเดินเล่นตามห้างฯ สวนสาธารณะ ไปทำบุญที่วัด พบปะญาติมิตร หรือแม้แต่กิจกรรมที่บ้านง่ายๆ อย่างดูหนัง เล่นกับหลาน เล่นเกมที่ไม่ซับซ้อน ก็ช่วยให้ผู้สูงวัยมีความสุข ชะลอความจำเสื่อมได้เช่นกัน


8. ตรวจสอบความผิดปกติของร่างกายและดูแลสุขอนามัย
ผู้ดูแลควรสังเกตความผิดปกติบนร่างกายของผู้สูงอายุเป็นประจำ หากพบบาดแผล รอยฟกช้ำ ต้องรีบทำการรักษา รวมถึงต้องดูแลเรื่องสุขอนามัยของผู้สูงอายุที่มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่


9. ให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
การให้ผู้สูงอายุได้ร่วมตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เลือกเสื้อผ้า เลือกร้านอาหาร จะช่วยให้รู้สึกมีคุณค่าและสบายใจ


10. ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุในบ้าน
ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ บันได ทาสารกันลื่นบนพื้นกระเบื้อง เพื่อป้องกันการลื่นล้มซึ่งอาจทำให้กระดูกหักได้ในผู้สูงวัย


การใส่ใจดูแลทั้ง 10 ประการนี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้สูงอายุในครอบครัวมีสุขภาพกายและใจที่เป็นสุข มีชีวิตยืนยาวอยู่เคียงข้างลูกหลานไปนานๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก ทีมงาน Biopox