www.medi.co.th
ศูนย์วิจัยในแคนาดาพัฒนาวิธีใหม่ในการรักษามะเร็งตับ โดยอาศัยไมโครโรบอท ที่นำทางด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในอุปกรณ์ MRI
Dr.Gilles Soulez ผู้อำนวยการแผนกรังสีวิทยา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ของ Université de Montréal และเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์วิจัย CHUM เปิดเผยถึงกระบวนการใช้ไมโครโรบอทในการรักษามะเร็งตับ โดยอาศัยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของอุปกรณ์ MRI นำทางไมโครโรบอทไปตามเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงเนื้องอกในตับ
แม้ว่าแนวคิดในการใช้ไมโครโรบอทเข้าไปในกระแสเลือดของมนุษย์เพื่อรักษาโรคร้ายแรงด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์ร่วมด้วยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทีมวิจัยของ Dr.Soulez พบว่า การใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าช่วยชี้นำการเคลื่อนตัวของไมโครโรบอทในเส้นเลือดมีความแม่นยำสูงกว่า
ตัวหุ่นยนต์จิ๋วผลิตจากอนุภาคนาโนของเหล็กออกไซด์ แต่มีข้อติดขัดทางเทคนิคเพียงเรื่องเดียว นั่นคือ แรงดึงดูดของไมโครโรบอทนั้นมากกว่าพลังสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ยิ่งหากจุดที่ต้องใช้ไมโครโรบอทอยู่สูงกว่าจุดที่ฉีดไมโครโรบอทเข้าไป ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการสำรวจหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงเนื้องอก แต่ Dr.Soulez แก้ปัญหานี้ด้วยการพัฒนาระบบอัลกอริธึมในตำแหน่งที่มีปัญหาในตับ และทำ MRI โดยใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงกับการนำทางของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าไปยังจุดที่ต้องรับการบำบัดรักษา หลีกเลี่ยงการทำลายเซลล์ที่แข็งแรงดี
ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Robotics และได้รับการยอมรับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีรักษามะเร็งตับไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่มะเร็งเซลล์ตับที่พบมากที่สุดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกถึง 700,000 คนต่อปี และปัจจุบันแพทย์ใช้วิธีรักษามะเร็งตับด้วยการใช้วิธีเคมีบำบัดในหลอดเลือดแดงที่ให้อาหารแก่เนื้องอกในตับ รวมทั้งปิดกั้นไม่ให้เลือดไปเลี้ยงเนื้องอก ซึ่งปกติใช้ microcatheters ที่มีเอกซเรย์ขนาดจิ๋วนำทาง แต่การใช้ MRI จะทำให้มองเห็นเนื้องอกได้ดีกว่าการเอกซเรย์ และยิ่งมีพลังแม่เหล็กไฟฟ้ามากขึ้น จึงยิ่งทำให้การควบคุมและตรวจจับบนภาพจากอุปกรณ์ MRI ง่ายมากขึ้น ผนวกกับการใช้แผนที่กายวิภาคของตับมนุษย์และระบบอัลกอริธึมคำนวณเส้นทางและตำแหน่งเนื้องอก จึงทำให้การค้นหาแม่นยำมากขึ้น ขณะที่ไมโครหุ่นยนต์แต่ละตัวจะทำหน้าที่รักษาในแต่ละส่วน แต่นักรังสีวิทยาจำเป็นต้องรู้จำนวนทั้งหมดของไมโครโรบอทด้วย
ข้อมูล: ://www.science.org/doi/10.1126/scirobotics.adh8702