สำหรับความคืบหน้าทางการแพทย์สำหรับผู้ที่มีอาการเสียงแว่วในหู หรือ Tinnitus วารสาร Science Translational Medicine รายงานผลวิจัยที่ชี้ว่า ลักษณะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าและรูม่านตาน่าจะเป็นตัววัดระดับความรุนแรงของอาการ Tinnitus ได้อย่างน่าเชื่อถือ
นาย Samuel S. Smith นักวิจัยจาก Eaton-Peabody Laboratories ที่ Massachusetts Eye and Ear ในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับทีมงานศึกษากลุ่มผู้ใหญ่ที่มีระบบประสาทปกติจำนวน 50 คน และผู้ใหญ่อีก 47 คนที่มีความไวต่อเสียงและอาการเสียงแว่วในหูร่วมกัน เพื่อหาความแตกต่างของค่า Tinnitus Handicap Inventory (THI) และ Hyperacusis Questionnaire (HQ) อันเป็นการบ่งบอกระดับความรุนแรงของอาการ Tinnitus พวกเขาใช้ระบบ AI ในการวิเคราะห์ภาพการขับเคลื่อนของกล้ามเนื้อใบหน้าและรูม่านตา ขณะที่ผู้ที่ถูกวิจัยกำลังฟังเสียงประเภทต่างๆ เช่น เสียงเด็กร้อง เสียงตะโกนไล่ เสียงไอ เป็นต้น
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วย Tinnitus ที่มีอาการรุนแรงจะมีรูม่านตาขยายตัวอย่างต่อเนื่องและส่วนใบหน้าตอบสนองต่อเสียงช้าลง โดยอาจมีการกระตุกที่แก้ม คิ้ว หรือในรูจมูกจึงสรุปว่าการขยายของรูม่านตาและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้า อันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงภายนอกสามารถทำนายค่า THI และ HQ ของแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ และนี่อาจเป็นวิธีการที่ปลอดภัยกว่าในการพัฒนารูปแบบใหม่ในการตรวจหาระดับความรุนแรงของอาการเสียงแว่วในหูอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้อุปกรณ์พิเศษต่างๆ ที่ต้องสอดเข้าไปในร่างกาย นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า ผู้ที่มีอาการหูอื้อเรื้อรังมักจะอยู่ในโหมดเฝ้าระวังอยู่เสมอ โดยตอบสนองต่อเสียงในชีวิตประจำวันราวกับว่าเป็นภัยคุกคาม
ข้อมูลจาก : https://www.drugs.com/news/signatures-disrupted-affective-sound-processing-identified-tinnitus-124814.html
https://neurosciencenews.com/การเคลื่อนไหวของใบหน้า-หูอื้อ-ลูกศิษย์-28807/