ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ของอังกฤษเปิดตัวหุ่นยนต์จิ๋วรุ่นใหม่ที่สามารถสแกนภาพ 3 มิติภายในลำไส้ได้อย่างละเอียด เพื่อตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้น
วารสาร Science Robotics รายงานว่า ทีมวิศวกรหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศสหราชอาณาจักร สามารถพัฒนาหุ่นยนต์พลังแม่เหล็กขนาดจิ๋วที่สามารถสแกนภาพ 3 มิติจากส่วนลึกภายในทางเดินอาหารหรือลำไส้เล็ก โดยไม่ต้องสอดใส่อุปกรณ์ใดๆ เข้าไปในร่างกาย และถือเป็นการปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งหลายประเภทด้วยการใช้วิธี 'การตรวจชิ้นเนื้อแบบเสมือนจริง' หรือ Virtual Biopsies ช่วยให้แพทย์ไม่จำเป็นต้องทำการตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจอีกต่อไป
องค์ประกอบสำคัญของหุ่นยนต์คือ Oloid ซึ่งเป็นรูปทรง 3 มิติ ทำให้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ใช้พลังงานแม่เหล็กมีระยะการเคลื่อนตัวด้วยการกลิ้ง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนำทางและการถ่ายภาพภายในร่างกายอย่างแม่นยำ ผสานเข้ากับกล้องเอนโดสโคปแบบยืดหยุ่นพลังแม่เหล็กรุ่นใหม่ (MFE) ที่ถ่ายภาพเนื้อเยื่อภายในแบบ 3 มิติในย่านความถี่สูงได้อย่างละเอียดชัดเจน เทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนาด้วยความร่วมมือระหว่างวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ และมหาวิทยาลัยเอดินบะระ
ข้อมูลจาก : https://www.labtestsguide.com/หุ่นยนต์กลิ้งขนาดเล็กใช้การตรวจชิ้นเนื้อเสมือนจริงเพื่อพัฒนาการตรวจจับมะเร็งระยะเริ่มต้น