www.medi.co.th
นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลในเกาหลีใต้ กำลังวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อยืนยันว่า ไมเกรนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) แต่ยังไม่อาจยืนยันสาเหตุชัดเจนที่มี 2 โรคนี้สัมพันธ์กันได้อย่างไร
ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก มีอาการไมเกรนอย่างน้อย 1 ครั้ง ในแต่ละปี การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ไมเกรนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคลมบ้าหมู ปัญหาการนอนหลับ ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ผลการวิจัยล่าสุดของทีมนักวิจัยชาวเกาหลีใต้ยังพบเบาะแสว่า ไมเกรนอาจจะเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหารบางโรค เช่น อาการลำไส้แปรปรวน (IBS) ซึ่งโรคที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Ulcerative Colitis (UC) ที่เกิดเฉพาะในบริเวณลำไส้ใหญ่ และโรค Crohn ที่แพทย์มักพบที่ส่วนต้นของลำไส้ใหญ่และส่วนปลายของลำไส้เล็ก แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นที่กระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหารได้
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วยชาวเกาหลีใต้กว่า 10 ล้านคน ผ่านระบบการรักษาพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งมี 3% ของทั้งหมดที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง จากการติดตามผลเป็นเวลา 5 ปี พวกเขาพบว่า ผู้ป่วยไมเกรนมีความเสี่ยงต่อการเกิด UC และ Crohn สูงกว่าผู้ที่ไม่มีไมเกรน และผู้ที่เป็นไมเกรนทั้งแบบกลุ่มออร่าไมเกรน และกลุ่มที่ไม่มีอาการออร่า จะเป็นโรค IBD มากกว่าคนที่ไม่ได้มีอาการไมเกรนเลย การศึกษาของพวกเขาได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างไมเกรนกับโรค IBD งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.2021 ก็เคยศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้ และพบว่าผู้ใหญ่ที่เป็นไมเกรนหรืออาการปวดศีรษะรุนแรงจะเป็นโรค IBD สูงกว่าผู้ที่ไม่มีอาการไมเกรนเช่นกัน และกลุ่มผู้ชายมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มผู้หญิง
ทางด้าน Dr.Brooks D. Cash ศาสตราจารย์และหัวหน้าแผนกระบบทางเดินอาหาร, ตับ และโภชนาการที่ UTHealth เมืองฮิวสตันในรัฐเท็กซัส ผู้ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยของเกาหลีใต้ กลับมีความเห็นว่า ผลการวิจัยนี้ก็ไม่สามารถระบุสาเหตุชัดเจนที่ไมเกรนไปเกี่ยวข้องกับ IBD ได้อย่างไร แม้ว่าวงการแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารยอมรับกันมานานแล้วว่า ไมเกรนมีผลต่อการเกิดโรคทางเดินอาหารเรื้อรังหลายชนิด เพียงแต่ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม และจำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงกลไกที่ประเมินสาเหตุที่เป็นไปได้ในความเกี่ยวโยงระหว่างไมเกรนกับ IBD
ส่วน Dr. Rudolf Bedford แพทย์ระบบทางเดินอาหารที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการที่ศูนย์สุขภาพโพรวิเดนซ์ เซนต์จอห์น ในเมืองซานตาโมนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานนี้เช่นกัน กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่ามีปัจจัยทางจิตวิทยาและความเครียดเข้ามามีบทบาทมากน้อยแค่ไหนต่อการเกิด IBD นอกเหนือจากอาการไมเกรน และสนับสนุนให้นักวิจัยตรวจสอบด้วยว่า สารเซโรโทนินภายในระบบทางเดินอาหารมีบทบาทด้วยอย่างไร