ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Purdue ได้รับทุน 2.4 ล้านดอลลาร์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนานวัตกรรมยาสูดพ่นต่อต้านการติดเชื้อในปอดจากจุลินทรีย์ดื้อยา
ทีมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นไทย ออสเตรเลีย และอเมริกาของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย Purdue ในรัฐอินดีแอนา ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังขะมักเขม้นกับการพัฒนาวิธีการรักษาโรคติดเชื้อในปอดแบบใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร หลังจากงานวิจัยเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพของพวกเขา ได้รับสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกามาแล้ว 2 ฉบับ และกำลังยื่นขอจดสิทธิบัตรอีก 4 ฉบับ ส่วนผลงานวิจัยมากกว่า 70 ฉบับ ได้รับการเผยแพร่ในวารสารด้านเภสัชกรรมที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิมาอย่างต่อเนื่อง
Qi "Tony" Zhou รองศาสตราจารย์ในภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรมและเภสัชวิทยาโมเลกุล เป็นหัวหน้าทีมวิจัยนี้ที่ล่าสุดได้รับเงินสนับสนุนอีก 2.4 ล้านดอลลาร์ จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) เพื่อแก้ปัญหาการติดเชื้อในปอด อันเกิดจากการดื้อยาของเชื้อจุลินทรีย์ที่เข้าสู่ปอด หลังจากได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางมาแล้ว 6 ทุน รวมเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
รศ.ดร. Zhou กล่าวว่า การให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดทางปากหรือฉีดทางหลอดเลือดดำ มักไม่มีประสิทธิผลต่อการรักษาโรคติดเชื้อในปอด สำหรับผู้ป่วยจำนวนมาก เนื่องจากการสัมผัสกับยาในบริเวณที่ติดเชื้อมีจำกัด และยังก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกาย การติดเชื้อในปอดที่เกิดจากแบคทีเรียดื้อยามักจะรักษายาก การติดเชื้อในปอดจึงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ของโลก เขาจึงเลือกใช้วิธีบำบัดด้วยการสูดพ่น และคิดค้นนวัตกรรมการบำบัดในแนวทางนี้
การดื้อยาต้านจุลชีพถือเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพทั่วโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากการรักษาแบบเดิม ๆ เริ่มไม่ได้ผลต่อเชื้อโรคที่คุกคามมากขึ้น NIH, CDC และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งอเมริการะบุว่า 'ซุปเปอร์บัก' ที่เป็นแกรมลบ เช่น Klebsiella pneumoniae, Pseudomonas aeruginosa และ Acinetobacter baumannii ติดอันดับหนึ่งในจุลินทรีย์ที่ดื้อยาหลายชนิดที่อันตรายที่สุด ขณะที่การพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่ยังล่าช้า และการติดเชื้อในปอดที่เกิดจากเชื้อก่อโรคที่ดื้อยาเหล่านี้อาจถึงแก่ชีวิตได้ ทีมวิจัยของหลายสถาบันจึงเร่งศึกษาและพัฒนาการบำบัดด้วยการสูดพ่นสำหรับปอดมากขึ้น
สำหรับแนวทางบำบัดของรศ.ดร. Zhou ในปัจจุบันเน้นเทคนิค spray drying โดยผสมยาปฏิชีวนะที่เสริมฤทธิ์กันตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปในอนุภาคเดียว ให้สามารถเข้าไปสะสมบริเวณที่เกิดการติดเชื้อโดยตรงและฆ่าเชื้อแบคทีเรียให้ได้มากที่สุด
ส่วนพันธมิตรอุตสาหกรรมที่สนใจในการพัฒนาหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของทีมวิจัย Purdue สามารถติดต่อได้ที่jrkasper@prf.org
ข้อมูล :