อุปกรณ์ตรวจกิจกรรมซับซ้อนภายในสมองทารก

อุปกรณ์ถ่ายภาพสมองแบบสวมใส่รุ่นใหม่ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) และมหาวิทยาลัยเบิร์คเบ็ค (Birkbeck) เปิดมุมมองใหม่ที่ช่วยให้เห็นภาพรวมของการทำงานภายในสมองทารกได้ดีกว่าเครื่องสแกนสมองแบบทั่วไป


เครื่องสแกนสมองแบบเดิมๆ มักมีข้อจำกัด ทำให้นักวิจัยของ UCL และ Birkbeck ร่วมกันพัฒนา
อุปกรณ์ที่สร้างภาพเอกซเรย์ระบบประสาทภายในสมองด้วยคลื่นแสงที่มีความหนาแน่นสูงแบบ HD-DOT และสามารถสแกนทั่วทั้งศีรษะของทารกได้ง่ายขึ้น อุปกรณ์ถ่ายภาพสมองแบบสวมใส่รุ่นใหม่นี้ ผลิตโดย Gowerlabs ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจาก UCL เมื่อ 11 ปีก่อน


ในการทดลองใช้อุปกรณ์ใหม่นี้กับทารกอายุ 5 ถึง 7 เดือน จำนวน 16 คน เด็กจะนั่งบนตักของพ่อแม่โดยสวมอุปกรณ์ดังกล่าว และชมวิดีโอของนักแสดงที่ร้องเพลงกล่อมเด็ก รวมทั้งวิดีโอเกี่ยวกับของเล่นที่เคลื่อนไหวได้ เช่น ลูกบอลกลิ้งลงทางลาด เทคโนโลยีที่ใช้คลื่นแสงที่ไม่เป็นอันตรายในการตรวจดูกิจกรรมในสมองของทารก ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นภาพรวมที่สมบูรณ์มากที่สุดเกี่ยวกับการทำงานของสมอง เช่น การได้ยิน การมองเห็น และการประมวลผลการรับรู้และการทำความเข้าใจ


Dr. Liam Collins-Jones ผู้เขียนงานวิจัยนี้ กล่าวว่า "วิธีการตรวจสมองด้วยอุปกรณ์วัดค่า HD-DOT นี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่เปิดโอกาสให้เรามองเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ของสมองที่เราไม่รู้มาก่อน ภาพการทำงานของสมองที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจะยิ่งช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า สมองของทารกทำงานอย่างไรเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัว ซึ่งอาจช่วยให้เราส่งเสริมศักยภาพทางระบบประสาทของเด็กได้ตั้งแต่อายุยังน้อย


 

 


ข้อมูล :  https://www.techexplorist.com/new-technology-measure-neural-activity-babies-brains/89699/