ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย UCL ของอังกฤษพัฒนาเครื่องสแกนขนาดพกพาที่สร้างภาพ 3 มิติที่มีรายละเอียดสูงในเวลาอันรวดเร็ว และอาจเป็นการปฏิวัติวิธีการวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น
ผลงานการพัฒนาเครื่องสแกนของทีมวิจัย UCL ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.2024 ในวารสาร Nature Biomedical Engineering ซึ่งระบุรายละเอียดว่า เป็นเครื่องสแกนที่สร้างภาพระบบโฟโตอะคูสติก 3 มิติ ที่มีรายละเอียดสูง และภาพออกมาหลังการจับภาพสแกนร่างกายอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น เทคโนโลยีใหม่นี้ช่วยให้มองเห็นหลอดเลือดซับซ้อนแบบเรียลไทม์และมีคุณภาพคมชัดสูง ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตรวจหาสภาวะต่างๆ เช่น มะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เหมาะสำหรับการตรวจผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอและอาจเร่งกระบวนการวินิจฉัยให้เร็วขึ้น
เครื่องสแกนรุ่นใหม่นี้เป็นระบบเอกซเรย์ด้วยแสง (PAT) โดยใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ที่สร้างด้วยเลเซอร์เพื่อแสดงภาพการเปลี่ยนแปลงที่ละเอียดยิบภายในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงที่มีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร แม้อยู่ลึกลงไปในเนื้อเยื่อ 15 มิลลิเมตร และทีมวิจัยยังได้ทดสอบเครื่องสแกนนี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ประเภท 2 ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรวม 10 ราย พร้อมด้วยอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีอีก 7 ราย
และพบว่าเครื่องสแกนสามารถสร้างภาพ 3 มิติ ที่มีรายละเอียดของหลอดเลือดขนาดเล็ก โดยเน้นที่ความผิดปกติและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในหลอดเลือด อีกทั้งยังแสดงภาพการอักเสบของผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม
ศาสตราจารย์ Paul Beard หนึ่งในทีมจัยของ UCL กล่าวว่า "ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เครื่องสแกนนี้ทำได้เร็วกว่าเครื่องสแกนรุ่นก่อนๆ ประมาณ 100 ถึง 1,000 เท่า ไม่มีปัญหาภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย ภาพมีรายละเอียดสูงกว่าเครื่องสแกนรุ่นใดๆ แทนที่จะใช้เวลา 5 นาที หรือนานกว่านั้น เราสามารถได้ภาพแบบเรียลไทม์ แต่ยังคงต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมกับผู้ป่วยกลุ่มใหญ่เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเครื่องสแกนรูปแบบใหม่นี้
แหล่งข้อมูล :