อนาคตของ Telemedicine ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

แม้ว่าเวลานี้ระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงสั่นคลอนและไม่มีเสถียรภาพดีพอ ท่ามกลางสงครามยืดเยื้อในแถบตะวันออกกลางและในประเทศยูเครน แต่อุตสาหกรรมการแพทย์ยังคงเติบโตและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อันรวมไปถึง Telehealth หรือการให้บริการดูแลสุขภาพทางไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสุขภาพและการแพทย์ในด้านนี้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีศักยภาพเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง นับตั้งแต่สิ้นสุดวิกฤตโควิด-19


ภาพรวมของตลาด Telemedicine ใน APAC
ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประกอบไปด้วย 51 ประเทศ กับ 7 เขตปกครอง ครอบคลุมกลุ่มประเทศทั้ง 2 ฟากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งเอเชีย อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มีประชากรรวมแล้วเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรโลก และถือเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในด้านการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้หันมาดูแลสุขภาพในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไลฟ์สไตล์ด้านการดูแลสุขภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดด้านสุขภาพ บริษัท Halodoc ผู้ให้บริการข้อมูลและเทคโนโลยีด้านสุขภาพระดับชั้นนำของอินโดนีเซีย สำรวจความเห็นของประชาชนในกลุ่ม APAC พบว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามสนใจการดูแลสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างจริงจัง ขณะที่ความต้องการด้านอุปกรณ์ดิจิทัลสำหรับตรวจสุขภาพส่วนตัวเพิ่มขึ้น เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) ระบบติดตามการนอนหลับ (Sleep Tracking) ระบบติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับราคาของอุปกรณ์ Telehealth เหล่านี้เริ่มจับต้องได้มากขึ้น อย่างเช่นยี่ห้อ Noise ของอินเดียจำหน่ายสมาร์ทวอทช์ในราคาเพียง 10-12 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 300-400 บาทเท่านั้น)


ผู้บริโภคใน APAC ยังคาดหวังที่จะได้รับบริการด้านการรักษาพยาบาลที่สะดวกและหลากหลายช่องทางมากขึ้น พวกเขากระตือรือร้นแสวงหาผู้ให้บริการด้านสุขภาพและบริการที่เข้าถึงได้ง่าย มีระบบที่ยืดหยุ่นและปรับให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของพวกเขาได้ดี ผลสำรวจของ Halodoc ระบุว่า 51% ของผู้บริโภคที่ได้รับการสำรวจในกลุ่มประเทศ APAC เต็มใจจะเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่น Gen Z ที่สนใจการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Health) มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ นอกจากนี้ กลุ่มที่มีรายได้สูงยังต้องการได้รับประสบการณ์และประสิทธิภาพของการให้บริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างเช่น ประเทศจีนที่ปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 10 ล้านคนต่อปี และรายได้ของประชากรในกลุ่มชนชั้นกลางช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลด้วย ซึ่งคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2030 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนจีนจะขยับเพดานไปถึง 3,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เมื่อปี 2015 อยู่ที่เพียง 1,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


การระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีผลผลักดันให้การดูแลสุขภาพกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผลการสำรวจของ Bain & Company พบว่า วิกฤตโควิดทำให้ประชากรผู้ใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของภูมิภาค APAC เต็มใจที่จะใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ตัวกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพอีกส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของแต่ละรัฐบาล เช่น โครงการ Healthy China 2030 ของจีนที่ตั้งเป้าขยายขนาดของอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น ส่วนตลาดการดูแลสุขภาพของอินเดียเติบโตขึ้นมากกว่า 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากการที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนสูงขึ้น อุตสาหกรรมยาและสุขภาพขยายตัวต่อเนื่องพร้อมกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี


แนวโน้มการใช้บริการ Single Touchpoint
บริษัท Bain & Company ของสหรัฐอเมริกาสำรวจความเห็นของผู้บริโภค 2,300 ราย ภายในกลุ่มประเทศ APAC (ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม) เมื่อปลายปี 2023 เพื่อประเมินแนวโน้มการบริโภคด้านการดูแลสุขภาพที่เน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง พบว่า ผู้บริโภคไม่ต้องการใช้บริการดูแลสุขภาพแนวเดิมๆ ที่พวกเขาได้ แต่เป็นฝ่ายตั้งรับเป็นส่วนใหญ่จากข้อมูลที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ตามสถานพยาบาลเป็นหลัก โดยเปลี่ยนวิธีการมาเป็นการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง แสวงหาประสบการณ์ที่ดีกว่าจากหลายช่องทางที่สะดวกกว่า ผู้บริโภคต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ให้บริการด้านสุขภาพเพียงจุดเดียวครบวงจร (Single Touchpoint ) ตั้งแต่การพิจารณาตัดสินใจเลือกใช้บริการ มีการเจรจาเพื่อให้ได้รับความมั่นใจและพึงพอใจในบริการ รวมทั้งบริการต่อเนื่องที่จะตามมา พวกเขาเต็มใจที่จะใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องไปรับบริการจากโรงพยาบาลที่ต้องรอคิวกันอย่างยาวนานอีกต่อไป การดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrated Care) จึงกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของคนยุคปัจจุบัน นอกจาก Single Touchpoint สำหรับการจัดการสุขภาพของตนเอง ผู้บริโภคยังพร้อมเปิดรับรูปแบบการรักษาพยาบาลเฉพาะทางใหม่ๆ ที่สะดวกรวดเร็วทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์


การปฏิวัติทางเทคโนโลยียิ่งขับเคลื่อนแนวคิดเรื่อง Single Touchpoint สำหรับการรับบริการด้านสุขภาพมีความเป็นไปได้ชัดเจนขึ้น ทั้งระบบ AI และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีด้านสุขภาพอื่นๆ ต่างก็เป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อแนวทางการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Care) และทำให้ธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพต้องปรับโครงสร้างและวิธีการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ผลสำรวจของบริษัท Bain & Company เมื่อปี 2023 พบว่า 91% ของผู้ถูกสำรวจต้องการใช้บริการแบบ Virtual Touchpoint เพื่อจัดการสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะประเทศจีน มีผู้ต้องการสูงถึง 62% หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2019 แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องเว็บไซต์ที่จำหน่ายยาปลอมหรือยาไม่ได้มาตรฐานบ้างก็ตาม


ดูภาพประกอบ   Figure 7 ในลิงค์ https://www.bain.com/insights/asia-pacific-front-line-of-healthcare-2024/

การวางแผนเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจสุขภาพ
ตลาดการดูแลสุขภาพในกลุ่ม APAC เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้บริโภค เทคโนโลยีและช่องทางการให้บริการรูปแบบใหม่ๆ บริษัท Bain & Company วิเคราะห์ไว้ว่า เป้าหมายของบรรดาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพกำลังเน้นการวางแผนเชิงกลยุทธ์ 4 ประการ ดังนี้


1. ปรับแนวทางการนำเสนอประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้า
ผู้ที่ใช้บริการทางด้านการแพทย์ในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ในจุดสัมผัสเพียงจุดเดียว (Single Touchpoint) โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ ที่นิยมกันมากขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ผู้ให้บริการด้านการแพทย์จึงต้องปรับความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการโต้ตอบออนไลน์และออฟไลน์ระหว่างการดูแลผู้ป่วย โดยอาศัยเครื่องมือดิจิทัล และระบบ “Workflow” ที่มีประสิทธิภาพขึ้น เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมมือกันทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วขึ้น ส่วนผู้บริโภคก็จะได้รับประสบการณ์ Omnichannel ที่ราบรื่น
2. ประสานงานในเรื่องการส่งมอบบริการพยาบาล
ผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์หรือบริการ พยาบาล รวมทั้งร้านขายยา อาจสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ เพื่อนำเสนอบริการ รวมถึงการวินิจฉัย การให้คำปรึกษา การจัดการยา และอื่นๆ ขณะที่ผู้บริโภคมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น ในการนำเสนอหรือแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการจัดส่งบริการหรือสินค้าตามความเหมาะสมของแต่ละคน รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญในกระบวนการส่งมอบสินค้าหรือบริการ
3. ปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยีอนาคต
ผู้ให้บริการด้านสุขภาพต้องปรับกระบวนการการทำงานแบบเดิมให้เป็นระบบดิจิทัล เอื้อประโยชน์ต่อช่องทางการสื่อสารแบบ Omnichannel ทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างมีบูรณาการ รวมไปถึงการเก็บบันทึกข้อมูลเชิงลึกด้านสุขภาพ การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี AR/VR แก่พนักงาน การใช้ AI ในการวินิจฉัยโรคและกระบวนการต่างๆ รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์มาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เช่น Apollo Hospitals ในอินเดีย ใช้ Vertex AI ของ Google Cloud และ Generative AI เพื่อพัฒนาเครื่องมือ Clinical Intelligence Engine ให้เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิกสำหรับแพทย์
4. สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์
ผู้ให้บริการสุขภาพและพยาบาลต้องมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ให้ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นำเสนอโซลูชั่นแบบ "ครบวงจร" ทั้งกลุ่มธุรกิจที่เป็นแบรนด์รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพมากขึ้น


การลงทุนด้าน Telemedicine ใน APAC
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มประเทศ APAC สะดุดลงไปบ้างในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งและขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกรายงานว่า FDI ด้านธุรกิจสุขภาพในภูมิภาค APAC กำลังขยายตัว โดยมีสหรัฐฯ ลงทุนมากที่สุด ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส ขณะที่บริษัทจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย พยายามเร่งขยายการลงทุนภายในประเทศของตนเอง


บริษัทที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์และ Telehealth ที่คาดว่าจะเติบโตค่อนข้างดีในอนาคตอันใกล้นี้ได้แก่ การแพทย์เฉพาะทาง (Precision Medicine) และยีนบำบัดทางด้านมะเร็งวิทยา (Oncology) งานวิจัยฉบับหนึ่งคาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้านการแพทย์เฉพาะทางใน APAC จะเพิ่มขึ้นจาก 8,320 ล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เป็น 18,200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2027 โดยนวัตกรรมจะเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตของตลาดนี้ในอนาคต งบประมาณมหาศาลจะนำมาใช้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะจีนถือเป็นประเทศที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเภสัชภัณฑ์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพล่าสุดของจีนที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2021 ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเป็นพิเศษ


ธุรกิจด้านการใช้ระบบสื่อสารด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในบริการด้านสุขภาพ การบริหารสถานพยาบาล การศึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุข กำลังเติบโตเป็น 2 เท่าในตลาด APAC หลังวิกฤตโควิด-19 ร้านขายยาที่ให้บริการทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์กลายเป็น Touchpoint ที่ผู้บริโภคยอมรับมากขึ้น มีผลสำรวจพบว่า สัดส่วนของผู้บริโภคในกลุ่ม APAC ที่เต็มใจรับการรักษาพยาบาลจากร้านขายยาอาจเพิ่มขึ้นเป็น 73% โดยเฉพาะคนรุ่น Gen Z อาจจะหันมาใช้บริการของร้านขายยาเพิ่มขึ้นถึง 82% ตราบใดที่ Touchpoint นี้สามารถให้บริการตรวจวินิจฉัย การตรวจสุขภาพ การส่งยาถึงบ้าน และการจัดการยารักษาโรคเรื้อรังอย่าง ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ตามแนวทางของการดูแลรักษาแบบบูรณาการ


แอปของผู้ให้บริการจากผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพมายาวนานมีผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เช่น แอป Apollo 24|7 ของ Apollo Hospitals ในอินเดีย ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอ การจองนัดหมายแพทย์ที่โรงพยาบาล และการสั่งยาที่บ้านและการวินิจฉัย ทั้งหมดนี้ทำได้ในแบบ Single Touchpoint ตามหลักบูรณาการเชิงกลยุทธ์ที่ลงตัวระหว่างบริการออนไลน์กับออฟไลน์ บริษัท Doctor Anywhere ในสิงคโปร์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้าน Telemedicine และบริการสุขภาพแบบดิจิทัลอื่นๆ ถึงกับลงทุนจ้างทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพชั้นนำในเอเชียพร้อมขยายคลินิกเฉพาะทางออกไปเป็น 12 แห่ง


ขณะเดี่ยวกัน AstraZeneca กำลังร่วมมือกับ Adherium Limited นำเสนอเครื่องช่วยหายใจอัจฉริยะผ่านอุปกรณ์มือถือที่เชื่อมโยงกับพอร์ทัลดิจิทัลที่ติดตามปริมาณยาและเปิดใช้งานการแบ่งปันข้อมูลกับแพทย์ เป้าหมายคือเพื่อให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของใบสั่งยาอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ในทำนองเดียวกัน M-Wear ซึ่งเป็นอุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพของบริษัท Mindray สามารถติดตามสุขภาพของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์หลังการผ่าตัดหรือการดูแลเรื้อรัง โดยให้ข้อมูลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ที่เชื่อถือได้ และการแจ้งเตือนแก่แพทย์หากจำเป็นต้องให้มีการพยาบาลแบบเฉียบพลัน ส่วน Qure.ai สตาร์ทอัพในอินเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมการวิเคราะห์ภาพทางด้านรังสีวิทยาที่ขับเคลื่อนด้วย AI และมีระบบประมวลผลการสแกนกระดูกภายใน 20 วินาที ที่มีความแม่นยำสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบเดิม


จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า นักลงทุนล้วนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI และในปี 2024 นี้ มีตัวเลขคาดการณ์กันว่า มูลค่าตลาด Telemedicine ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ประมาณ 35,460 ล้านดอลลาร์ และอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น 14.61% หรืออยู่ที่ 70,000 ล้านดอลลาร์ ผู้ประกอบการทางด้านธุรกิจสุขภาพจำเป็นต้องปรับตัว พร้อมรับโซลูชั่นทางด้านเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อพัฒนาศักยภาพและขยายการบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างครบครัน อันจะเป็นการเสริมสร้างอนาคตที่มั่นคงและแข็งแกร่งของตลาด Telemedicine ต่อไป


 

 


แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ:


https://www.europe.business.hsbc.com/en-gb/insights/innovation/asia-pacific-healthcare-industry


https://www.bain.com/insights/asia-pacific-front-line-of-healthcare-2024/


https://images.search.yahoo.com/search/images;_ylt=Awr.3ITrAC9nuiIESUpXNyoA;_ylu=Y29sbwNncTEEcG9zAzEEdnRpZAMEc2VjA3BpdnM-?p=telemedicine+apac&fr2=piv-web&type=E210US91215G0&fr=mcafee#id=23&iurl=https%3A%2F%2Fapacnewsnetwork.com%2Fwp-content%2Fuploads%2F2021%2F07%2FBengal-Govt-Plans-To-Set-Up-15000-Telemedicine-Centres.jpg&action=click