อัลตราซาวนด์ได้รับการยืนยันจากทีมวิจัยชาวอเมริกันว่า สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อค้นหาจุดกำเนิดของความบกพร่องหลากหลายรูปแบบในสมองมนุษย์ได้
วารสาร PLOS Biology และวารสาร Attune Neurosciences เผยแพร่รายงานของทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยพลีมัธ ที่ได้พิสูจน์ว่า อัลตราซาวด์ในรูปแบบ transcranial ultrasound stimulation (TUS) เป็นวิธีการที่ไม่รุกรานและมีความแม่นยำในการหาเป้าหมายในตำแหน่งเฉพาะเจาะจงในสมองของผู้ป่วยที่ประสบภาวะต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมอง รวมทั้งอาการเจ็บปวดที่สมอง โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) และโรคพาร์กินสัน โดยผู้ป่วยไม่ต้องใช้ยาหรือเข้ารับการผ่าตัด TUS จึงทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องมือค้นหาและช่วยเหลือสำหรับสมองในรักษาเฉพาะบุคคล (Precision Medicine) ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถค้นหาแหล่งที่มาของปัญหาและความผิดปกติของสมองก่อนที่จะทำการรักษา เพราะสมองมนุษย์ทั้ง 8,200 ล้านคนบนโลกมีความแตกต่างกัน การรักษาเฉพาะบุคคลจึงต้องอาศัยวิธีที่จะหาเบาะแสของปัญหาที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน จึงต้องอาศัยเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้การรักษานั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ก่อนหน้านี้ อัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือสำหรับติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์และประเมินสุขภาพของอวัยวะภายในของผู้ป่วยเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวล้ำไปมาก นักวิจัยได้พัฒนาและทดสอบอุปกรณ์อย่าง TUS ให้มีขนาดเล็กลงและใช้งานได้ง่าย เพื่อให้ทุกคนสามารถนำมาใช้ประเมินสุขภาพของตนเองที่บ้านได้ แทนที่จะต้องไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่การจะไปถึงจุดนั้น ทีมวิจัยยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมากมายและต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง TUS ได้สะดวกง่ายดายขึ้น ดร. Keith Murphy นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า มีเหตุผลมากมายที่ผู้คนไม่สามารถไปสถานพยาบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเงินหรือเพียงแค่ไม่มีเวลา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรามีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาอุปกรณ์ MRI แบบพกพา โดยมีเป้าหมายให้มีการดัดแปลงอุปกรณ์ให้นำไปใช้ได้อย่างปลอดภัยที่บ้านได้ ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการบำบัดสมองขั้นสูงได้มากขึ้นในอนาคต
แหล่งข้อมูล : https://www.medindia.net/news/ultrasound-a-new-tool-for-brain-search-and-rescue-217811-1.htm