แพลตฟอร์ม SOAR ปฏิวัติวงการวิจัยยาด้วยแผนที่ยีนระดับเนื้อเยื่อ

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Northwestern ในสหรัฐอเมริกา เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ชื่อว่า SOAR (Spatial transcriptOmics Analysis Resource) ซึ่งเป็นทรัพยากรแบบเปิด (open-access) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับการวิเคราะห์ transcriptomics เชิงพื้นที่ ช่วยนักวิจัยประหยัดเวลาการพัฒนายาระยะต้นลงหลายเดือน โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำงานของยีนในเนื้อเยื่อแต่ละส่วนของร่างกาย และการสื่อสารระหว่างเซลล์


SOAR ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยด้าน spatial transcriptomics ที่สามารถบ่งชี้ว่ายีนใดเปิดหรือปิดในแต่ละพื้นที่ของเนื้อเยื่อ ซึ่งเปรียบเสมือน “GPS โมเลกุล” ที่นำทางนักวิทยาศาสตร์ไปยังตำแหน่งของกระบวนการทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ แพลตฟอร์มนี้รวบรวมข้อมูลจาก 19 บริษัทในแวดวง spatial transcriptomics ครอบคลุมตัวอย่างเนื้อเยื่อ 3,461 ชิ้น จาก 13 สายพันธุ์ (รวมถึงมนุษย์และปลาม้าลาย) และเนื้อเยื่อ 42 ประเภท เช่น สมอง ปอด เต้านม และลำไส้ เป็นต้น


ศาสตราจารย์ Lu Wang Luo หัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่า การเข้าใจว่ากิจกรรมของเซลล์เกิดขึ้นที่ใดสำคัญกว่าการดูแค่กิจกรรมของเซลล์เพียงอย่างเดียว เช่น หากเซลล์ภูมิคุ้มกันโจมตีเนื้อเยื่อปกติ อาจนำไปสู่โรคลำไส้อักเสบ (IBS) หรือหากไม่โจมตีเซลล์มะเร็งในเนื้องอก ก็อาจทำให้มะเร็งลุกลาม


นักวิจัยสามารถระบุเป้าหมายที่แม่นยำยิ่งขึ้นสำหรับการพัฒนายา SOAR จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการเร่งกระบวนการค้นพบและพัฒนายาแห่งอนาคต ผ่านการเข้าใจกลไกโรคอย่างลึกซึ้งและแม่นยำในระดับเซลล์และเนื้อเยื่อ ปัจจุบัน บริษัทเภสัชกรรมหลายแห่งกำลังเตรียมนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้งาน

 


ข้อมูลจาก :https://www.news-medical.net/news/20250612/New-open-access-tool-could-accelerate-drug-discovery.aspx