ศัลยกรรมข้อเข่าเปิดฉากสมรภูมิสงครามหุ่นยนต์ครั้งใหม่

Paul Sandle and Ben Hirschler, Reuters

          ผู้ผลิตเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของโลกกำลังมุ่งหน้าพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อช่วยการผ่าตัดข้อเข่าที่ซับซ้อน โดยตั้งใจให้กระบวนการผ่าตัดรวดเร็วขึ้นและให้ผลการรักษาดีขึ้นจากเดิมซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยไม่พอใจ
          ความต้องการข้อเข่าเทียมเพื่อทดแทนของเดิมกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ข้อเข่าและสะโพกของคนยุคเบบี้บูมกำลังเสื่อมถอยลง แต่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาบรรดาบริษัทที่เป็นคู่แข่งกันได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีออกมาเพื่อให้สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอย่างเป็นกอบเป็นกำ
ปัจจุบันนี้ Stryker ในสหรัฐอเมริกาและ Smith & Nephew ของอังกฤษเชื่อว่า สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนเมื่อหุ่นยนต์ช่วยให้ทั้งสองบริษัทมีความได้เปรียบ
การมีหุ่นยนต์ย่อมหมายถึงผู้ป่วยจะบาดเจ็บน้อยลงและฟื้นคืนอาการได้เร็วขึ้น แม้หุ่นยนต์ยังจะต้องพิสูจน์ตัวเองในการศึกษาทางคลินิก แม้จะยังไม่มีรายงานผลสำเร็จในอีกสองสามปีก็ตาม
          Fares Haddad ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาจาก University College London Hospitals เป็นหนึ่งในศัลยแพทย์คนแรกๆ ในประเทศอังกฤษที่ใช้หุ่นยนต์รุ่นใหม่และเกิดประทับใจกับประโยชน์ของหุ่นยนต์ อย่างไรก็ตามเขาเห็นด้วยว่าผู้ให้บริการรักษาพยาบาลจำเป็นต้องมีข้อมูลชัดเจนในการพิสูจน์ว่าหุ่นยนต์คุ้มค่ากับการลงทุนซึ่งอาจจะมากถึงตัวละ 1 ล้านดอลลาร์
          “เหตุผลหลักสำหรับการใช้ระบบหุ่นยนต์ คือ เพื่อยกระดับความแม่นยำและสามารถจัดการเพื่อสนองเป้าหมายของผู้ป่วยแต่ละคนที่แตกต่างกันไปได้อย่างถูกต้อง” เขากล่าวและว่า “หุ่นยนต์มีประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาข้อเข่า เพราะข้อเข่ามีปัญหามากกว่า (สะโพก) และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่พอใจกับข้อเข่าของตนเองอย่างที่เราอยากให้เป็น”
          จากการสำรวจในอุตสาหกรรม พบว่า อัตราความพึงพอใจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 65 สำหรับการผ่าตัดข้อเข่า เปรียบเทียบกับร้อยละ 95 สำหรับสะโพก
ประเด็นการแข่งขันของหุ่นยนต์จะเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องราคาและความสามารถที่ซับซ้อน การช่วยเหลือศัลยแพทย์ด้วยภาพนำทางที่แม่นยำสำหรับการผ่ากระดูกและการใส่ข้อเทียม
          บริษัทกลุ่มออร์โธปีดิคส์ทั้งหลายหวังที่จะเอาอย่างความสำเร็จของ Intuitive Surgical ผู้บุกเบิกหุ่นยนต์รุ่นแรกๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีเครื่อง da Vinci ของบริษัทนี้มากว่า 4,000 เครื่องติดตั้งอยู่ทั่วโลกสำหรับใช้ในกระบวนการต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการผ่าตัดต่อมลูกหมาก การรักษาอาการไส้เลื่อน และ ศัลยกรรมผ่าตัดมดลูกออก (hysterectomies)

แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานระหว่างการผ่าตัดข้อเข่าเทียมในห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลของ Canton of Nidwalden ในเมือง Stans ประเทศสวีเดน (ภาพ Reuters)

          นอกจากการขายเข้าในตลาดขนาดใหญ่ของกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตกแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังต้องการขยายการใช้หุ่นยนต์ในประเทศอินเดีย จีน และตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งการได้เป็นเจ้าของระบบไฮเทคที่น่าเชื่อถือจะเป็นความได้เปรียบทางการตลาดสำหรับโรงพยาบาลเอกชน
          Stryker กำลังเป็นผู้นำในตลาดด้วยแขนหุ่นยนต์ MAKO ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้บริษัทได้ยอดขายถึง 1.65 พันล้านดอลลาร์ในปี 2013 และได้บุกเบิกการผ่าตัดข้อเข่าโดยมีหุ่นยนต์ช่วยเหลือ ด้วยการกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมและช่วยในการผ่าตัดกระดูก
          แต่บริษัทเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งรายเล็กกว่าคือ Smith & Nephew ซึ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกกว่า คือ Navio สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (total knee replacements) ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มบริษัทของอังกฤษได้ซื้อบริษัทที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์นี้เป็นจำนวน 275 ล้านดอลลาร์ในปี 2016
          นั่นคือการเปิดฉากสงครามอย่างแท้จริง เนื่องจากปัจจุบันทั้งสองบริษัทสามารถทำการทดแทนข้อเข่าได้ทั้งข้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากของกระบวนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
          ทั้งสองบริษัทเชื่อว่าหุ่นยนต์ของตนจะช่วยในการครองส่วนแบ่งของตลาดออร์โธปีดิคส์ (orthopaedic) ได้มากกว่า ซึ่งตลาดนี้มีผู้เล่นรายใหญ่อยู่ 4 รายแบ่งกันครองตลาดมานานกว่าสิบปี
          แขนหุ่นยนต์ MAKO ซึ่งใช้ข้อและวัสดุฝังของ Stryker เท่านั้น มีราคาในการติดตั้งประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ Navio แขนหุ่นยนต์ของ Smith & Nephew ไม่ได้มีคุณลักษณะมากเท่ากับ MAKO และไม่ได้ผูกติดกับผลิตภัณฑ์ของ Smith & Nephew แต่ผู้เดียว ติดตั้งในราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง
          Olivier Bohuon ประธานบริหารของ Smith & Nephew กล่าวว่า จริงๆ แล้วนี่คือการลงทุนทางกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดของบริษัทมาเป็นเวลา 10 ปี
          “ขณะนี้เรากำลังต่อสู้กับ Stryker แบบตัวต่อตัว” เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์ “ผมเชื่อว่าเรากำลังจะได้ส่วนแบ่งการตลาด เนื่องจากเรามีหุ่นยนต์ ไม่ว่ามันจะเป็น Stryker หรือของเราก็ตาม”
          ขณะเดียวกัน Stryker คาดว่า ระบบ MAKO จะเริ่มได้ส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่สิ้นปี 2017
          ”เมื่อเราออกตลาดปีนี้ เราคาดว่าจะเริ่มเห็นหลักฐานที่แสดงถึงส่วนแบ่งตลาดของข้อเข่า” Katherine Owen หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ที่ Stryker กล่าวต่อที่ประชุมการลงทุนในเดือนมิถุนายน “เป้าหมายของเราสำหรับ MAKO คือ ให้ได้ส่วนแบ่งตลาดหลายร้อย basis point โดยไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเจาะจงลงไป
          Zimmer Biomet และ Johnson & Johnson คู่แข่งรายใหญ่อีกสองรายในกลุ่มออร์โธปีดิคส์ยังตามหลังในการแข่งขันผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ แต่ทั้งสองบริษัทมีแผนที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป
          J&J กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดร่วมกับ Verily บริษัทที่ทำงานด้านชีววิทยาศาสตร์ของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ในขณะที่เมื่อปีที่แล้ว Zimmer ซื้อหุ้นใหญ่ใน Medtech ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาประสาทศัลยศาสตร์
          นักวิเคราะห์ที่ Morgan Stanley เชื่อว่า หุ่นยนต์มีศักยภาพที่จะสั่นคลอนตลาดข้อเทียม ซึ่งว่ากันว่ากลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะเหมือนๆ กัน โดยยังไม่มีข้อเข่าหรือวัสดุฝังสะโพกเปิดสู่ตลาดในฐานะเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นดีในเร็ววันนี้
          นั่นสอดคล้องกับมุมมองของ Bohuon จาก Smith & Nephew ซึ่งเห็นว่าหุ่นยนต์ช่วยให้บริษัทของเขาได้โอกาสที่จะมีฐานะเหนือกว่าทั้งๆ ที่อยู่ในอันดับ 4 ในกลุ่มศัลยกรรมเสริมสร้าง (reconstructive surgery)
           เขาชี้ว่าหุ่นยนต์สามารถช่วยการผ่าตัดข้อเข่าได้ถึงร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 40 อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นอยู่กับว่าระบบการแข่งขันจะก้าวเดินไปอย่างไร
           นักวิเคราะห์ของ Jefferies กล่าวว่า การตัดบางส่วนของกระดูกด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติโดย MAKO อาจเป็นฝ่ายชนะในระยะยาว แต่ Navio เสนอทางเลือกที่ราคาถูกกว่า และยังมีบางอย่างที่ดีกว่าผู้ผลิตรายใหญ่อีกสองบริษัทมีในปัจจุบัน
           Haddad ศัลยแพทย์ออร์โธปีดิคส์ ซึ่งมีประสบการณ์กับทั้งสองฝ่าย กล่าวว่า เครื่องจักรมีความแตกต่างกันมากและระบบบริการสุขภาพจะต้องประเมินผลที่คุ้มกับราคาโดยพิจารณาถึงผลการทดลองทางคลินิก