คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกระดับบทบาทเภสัชกรตอบรับ 'การแพทย์แม่นยำ' พร้อมพัฒนาเภสัชกรไทยยุคดิสรัปชั่น ล่าสุดทีมนักศึกษาคิดค้นนวัตกรรมและแผนการตลาด "เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND)" นาฬิกาอัจฉริยะช่วยป้องกันและตรวจจับก่อนการล้มในผู้สูงอายุ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศจาก 'การประกวดแผนการตลาดของสมาคมเภสัชกรการตลาด (MPAT) โปรเจค Start-up Pharma' จัดโดย ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) และสมาคมเภสัชกรการตลาด (ประเทศไทย)
รศ.ดร.ภก. อรัมษ์ เจษฎาญานเมธา คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวไกลไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเภสัชกรรมและสุขภาพยุคดิสรัปชั่น มุ่งใช้ศักยภาพและยกระดับบทบาทเภสัชกรให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วย สาธารณสุขและเศรษฐกิจของไทยมากยิ่งขึ้น เภสัชกรเป็นหนึ่งในสหวิชาชีพที่ทำงานด้านยาซึ่งมีผลกระทบสำคัญยิ่งในการบำบัดรักษาผู้ป่วย เคียงข้างแพทย์ พยาบาล โภชนากร และที่สำคัญ คือเราส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมผนวกเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านยาและเฮลท์เทค หรืออุปกรณ์การแพทย์ของไทย การริเริ่มแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมและแผนการตลาด เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND) นาฬิกาอัจฉริยะ เตือนผู้สูงวัยก่อนล้ม ทีมงานประกอบด้วย 4 นักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ น.ส.ยงธิดา แสวงสุข น.ส.ณัฐกฤตา ครองแถว นายสรัช ธีระสุต และ นายธนกฤต โสเจยยะ โดยมี ดร.ภก. สุจินต์ นิทัศน์ปกรณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยสร้างชื่อเสียงคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดแผนการตลาดระดับประเทศของสมาคมเภสัชกรการตลาด หรือ MPAT Award : Start-Up Pharma และขณะนี้ทางทีมงานผู้เข้าประกวดได้นำแนวคิดนวัตกรรมและแผนการตลาดของ เอลด้าแบนด์ เข้าสู่โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TU 88 Sand Box โดยระยะเวลาดำเนินงานของโครงการ คือ ตั้งแต่ ก.พ. - ธ.ค. 2565 เพื่อบ่มเพาะพัฒนาแนวคิดของนวัตกรรมนี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์เฮลท์เทคที่รองรับสังคมสูงวัย โดยการสนับสนุนของผู้เชี่ยวชาญ แหล่งเงินทุนและการตลาด
ยงธิดา แสวงสุข หรือ ต้องตา นักศึกษาปีที่ 5 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการริเริ่มแนวคิดนวัตกรรม และแผนการตลาดของเอลด้าแบนด์ (ELDARBAND) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยมีจำนวนกว่า 13 ล้านคน 'การล้ม' เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้สูงอายุ แนวคิดของการสร้างและพัฒนานวัตกรรม เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND) เพื่อตอบโจทย์ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวให้มีความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที โดยทีมได้นำความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์ผนวกกับเทคโนโลยีมาเพื่อริเริ่มการสร้างแผนการตลาดของนวัตกรรม ELDARBAND เพื่อใช้แนวคิดนี้แก้ปัญหานี้ได้โดยแจ้งเตือน อีกทั้งช่วยตรวจจับปัญหาสุขภาพ เช่น ตรวจจับยาที่รับประทานที่มีผลข้างเคียง ง่วงนอน เวียนศีรษะ ส่วนแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตนั้นจะเน้นความง่าย เพียงสวมข้อมือเหมือนนาฬิกาซึ่งมีเลขบอกเวลา หากผู้สูงอายุเคลื่อนไหวกะทันหันผิดไปจากปกติ อุปกรณ์ก็จะแจ้งเตือนด้วยการสั่นและเสียง อีกทั้งเพิ่มแนวคิดที่จะพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์สามารถส่งข้อมูล GPS ระบุตำแหน่งและข้อมูลจำเพาะที่จำเป็นต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงโดยทันที หากเกิดข้อผิดพลาดในการแจ้งเตือน ผู้ใช้งานสามารถกดยกเลิกได้ นอกจากนี้ ยังมีปุ่มที่สามารถติดต่อไปยังแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพได้โดยตรงอีกด้วย