อิสราเอลสร้าง “ตัวอ่อนสังเคราะห์” สำเร็จครั้งแรกของโลก

                                                               WEIZMANN INSTITUTE
                                   (ภาพขยายการเจริญเติบโตของตัวอ่อนสังเคราะห์ระหว่างวันที่ 1-8)


สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ของอิสราเอล ประสบความสำเร็จในการสร้าง “ตัวอ่อนสังเคราะห์” (synthetic embryos) จากเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ของหนูทดลองได้เป็นครั้งแรกของโลก
          ตัวอ่อนสังเคราะห์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการผสมพันธุ์ของไข่และสเปิร์ม ทั้งไม่ได้เจริญเติบโตในครรภ์มารดา แต่ก็มีอวัยวะต่าง ๆ ที่ทำงานได้เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไป ทำให้วงการแพทย์เริ่มมีความหวังว่า เทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่การเพาะอวัยวะเพื่อปลูกถ่ายให้กับคนไข้ได้ตามต้องการในอนาคต
          ผลการศึกษาข้างต้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Cell เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดย ศ. เจคอบ ฮานนา ผู้นำทีมวิจัย บอกว่า “ตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอนั้นเป็นเครื่องจักรผลิตอวัยวะ และเครื่องพิมพ์ 3 มิติชีวภาพที่ดีที่สุด เราจึงพยายามเลียนแบบการทำงานของมัน”
          ก่อนหน้านี้ ศ.ฮานนา เคยประสบความสำเร็จในการเลี้ยงตัวอ่อนหนูให้เติบโตนอกครรภ์มารดามาแล้ว แต่ในครั้งนี้เขาใช้สารเคมีส่งสัญญาณกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดเจริญไปเป็นอวัยวะต่าง ๆ โดยมีสเต็มเซลล์ส่วนน้อยเพียง 0.5% ของทั้งหมดเติบโตเป็นตัวอ่อนที่มีรกและถุงไข่แดง รวมทั้งมีสเต็มเซลล์ที่กลายเป็นเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจที่เริ่มเต้น สมอง กระดูกสันหลัง และทางเดินอาหาร
          เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอ่อนหนูตามธรรมชาติแล้ว ตัวอ่อนสังเคราะห์มีโครงสร้างร่างกายและพันธุกรรมเหมือนกันถึง 95% แต่น่าเสียดายที่พวกมันตายลงทั้งหมด หลังเจริญเติบโตไปได้เพียง 8.5 วัน ซึ่งนับเป็นครึ่งทางของระยะเวลาตั้งท้องในหนูทดลองส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ตัวอ่อนสังเคราะห์ยังไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ เมื่อถูกย้ายไปใส่ในมดลูกของหนูตัวเมียที่จะช่วยอุ้มบุญด้วย

                                                             WEIZMANN INSTITUTE
                           ((ตัวอ่อนสังเคราะห์อายุ 5 วัน (ซ้ายบน) เติบโตจนมีอายุได้ 8 วัน (ขวาล่าง))
         
          ศ. ฮานนากล่าวถึงหนทางที่จะพัฒนาเทคโนโลยีตัวอ่อนสังเคราะห์ต่อไป เพื่อการผลิตอวัยวะทดแทนในปริมาณมากได้ตามต้องการโดยไม่ต้องใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะในอนาคตว่า
          “การศึกษาในขั้นตอนต่อไปนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่าสเต็มเซลล์รับรู้คำสั่งสร้างอวัยวะได้อย่างไร เหตุใดมันจึงรู้ถึงแบบแปลนของอวัยวะ ทั้งยังทราบว่าต้องสร้างอวัยวะอะไรขึ้นที่ตรงไหนบ้าง”
          อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าที่เทคโนโลยีนี้จะนำมาใช้ได้กับมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาติดขัดด้านจริยธรรมในการวิจัย เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศมีข้อห้ามเกี่ยวกับการทดลองด้วยตัวอ่อนมนุษย์

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.bbc.com/thai/articles/cerez0e8kwmo