กินยังไงให้ไร้คาร์บอน กับบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกยุคใหม่

"ปริมาณพลาสติกใช้แล้วทิ้ง หรือ Single-use plastic ส่วนใหญ่มาจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกแบบให้สามารถย่อยสลายได้ง่าย เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน และกลายเป็นขยะทำร้ายสัตว์ทะเล"


ปริมาณพลาสติกใช้แล้วทิ้ง หรือ Single-use plastic ส่วนใหญ่มาจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกแบบให้สามารถย่อยสลายได้ง่าย เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน และกลายเป็นขยะทำร้ายสัตว์ทะเล


"ซองน้ำซุปบะหมี่" ทานได้ยันถุง!
ไอเดียสุดเจ๋งนี้ มาจาก Holly Grounds (ฮอลลี่ กราวนด์) นักออกแบบด้านผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัย เรเวนส์บอร์น ลอนดอน (Ravensbourne University London) ที่ได้ออกแบบให้ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สามารถละลายเปลี่ยนเป็นน้ำซุปเมื่อโดนน้ำร้อน


ถุงเปลี่ยนเป็นน้ำซุปนี้มีชื่อว่า Dissolvable Noodle Packaging โดยวิธีการทานเพียงแค่นำซองและเส้นบะหมี่ใส่ลงไปในชามพร้อมกัน จากนั้นเทน้ำร้อน แผ่นฟิล์มที่หุ้มบะหมี่อยู่ก็จะละลายน้ำ แล้วเปลี่ยนจากซองบะหมี่เป็นน้ำซุปรสเลิศ ไม่ต้องแกะซองแล้วทิ้งให้เป็นขยะอีกต่อไป


ส่วนใครที่สงสัยว่าทานทั้งซองแบบนี้จะเป็นอันตรายหรือไม่ ตัวซองบะหมี่ผลิตจากเจลาตินที่สามารถทานและละลายน้ำได้ดี หรือพูดง่าย ๆ ว่าสิ่งนี้คือไบโอฟิล์ม ที่ใช้ส่วนผสมปลอดภัย เช่น แป้งมันฝรั่ง กลีเซอรีน และน้ำ ผสมด้วยเครื่องเทศปรุงรส ซึ่งกระบวนการผลิตนี้ใช้เวลากว่า 24 ชั่วโมง ด้วยกัน


ถุงใส่สินค้าจากสาหร่ายใต้ทะเล
มาต่อกันที่ความพยายามของสเวย์ (Sway) สตาร์ตอัปในแคลิฟอร์เนีย ที่ต้องการลดปริมาณขยะพลาสติกในท้องทะเล ด้วยการใช้สาหร่ายทะเลมาทำเป็นวัสดุห่อหุ้มสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทดแทนการใช้ฟิล์มบางและถุงพลาสติก ซึ่งวัสดุแบบใหม่นี้ไม่ทำอันตรายต่อสัตว์ทะเล ลดการสร้างกรดในมหาสมุทร และสร้างรายได้ให้กับแรงงานท้องถิ่นที่อยู่ตามชายฝั่ง


ซึ่งเหตุผลที่เลือกสาหร่ายทะเลเป็นวัสดุหลัก เพราะว่าเป็นทรัพยากรที่ช่วยดูดซับคาร์บอน โดยสามารถดูดซับคาร์บอนต่อเอเคอร์ได้มากกว่าป่าถึง 20 เท่า เติบโตได้เร็วกว่าพืชบนบกอื่น ๆ ถึง 60 เท่า และยังปลอดสารพิษ ย่อยสลายได้เร็ว เพาะพันธุ์ได้ง่าย ช่วยลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย


โดยปัจจุบันบริษัทยังคงอยู่ในช่วงทดลองปรับสูตรให้เหมาะสม จากการเลือกใช้สาหร่ายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อไปสู่การทดลองใช้ระยะนำร่อง


ซึ่งทางบริษัทเคลมว่าผลลัพธ์ที่พัฒนาได้ตอนนี้ เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงกว่าโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ Low-Density Polyethylene (LDPE) ที่มักนำไปทำเป็นขวดพลาสติก ฝาขวดน้ำ หรือถุงใส่ของ และตัววัสดุที่มาจากสาหร่ายนี้ยังสามารถทำเป็นสีใส หรือเป็นสีธรรมชาติ ที่มาจากตัวสาหร่ายเองได้ด้วย


สำหรับ สเวย์ (Sway) เป็นสตาร์ตอัปด้านวัสดุในแคลิฟอร์เนีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยนักออกแบบจูเลีย มาร์ช (Julia Marsh) ที่ได้แรงบันดาลใจจากปัญหาวัสดุทางเลือกทดแทนพลาสติก ที่มีตัวเลือกไม่มากนัก จนตั้งทีมพัฒนาหาวิธีสร้างวัสดุแทนพลาสติกแบบใหม่ และได้มาเป็นผลงานวัสดุจากสาหร่าย นวัตกรรมล้ำค่าใต้ทะเล แบบที่เราเห็นกันนี้เองครับ


เปลี่ยนกากธัญพืช เป็นบรรจุภัณฑ์
และปิดที่สตาร์ตอัปสิงคโปร์ เพื่อนบ้านของเรา ที่ได้คิดค้นวิธีแก้ปัญหาขยะเศษอาหาร จำพวกกากธัญพืช ด้วยการนำมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ หวังช่วยแก้ปัญหาการฝังกลบขยะซึ่งนอกจากจะกินพื้นที่บนโลก ยังก่อภาวะโลกร้อน เนื่องจากการฝังกลบจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกนั่นเองครับ


สตาร์ตอัป อัลเทอร์แพ็กส์ (Alterpacks) ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มักจะนำมาทำภาชนะใส่อาหาร ด้วยการใช้วัตถุดิบจาก “กากธัญพืช” ที่หาได้ง่าย โดยส่วนใหญ่จะเป็น มอลต์ ข้าวบาร์เลย์ และกากธัญพืชที่เหลือมาจากการผลิตเบียร์


ซึ่งปกติกากธัญพืชเหล่านี้ มักนำไปเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย หรือกลบทิ้งให้เสียเปล่า แต่บริษัทจะเอามารีไซเคิลทำเป็นวัสดุขึ้นรูปภาชนะใหม่


โดยระบุว่ากระบวนการแปรรูปกากธัญพืชที่ใช้แล้วให้เป็นภาชนะใส่อาหาร ก็จะคล้ายคลึงกับกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ ที่จะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ทำความสะอาดวัตถุดิบ ผสมสูตร แล้วกดลงในตัวพิมพ์ภาชนะรูปต่าง ๆ


ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็นภาชนะใส่อาหาร จาน ช้อน ส้อม ที่ขึ้นรูปเป็นทรงต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ รวมถึงผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) และสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (SFA) สำหรับใช้ใส่อาหารแช่ในช่องแช่แข็ง ใช้กับเตาไมโครเวฟได้ และย่อยสลายตามธรรมชาติได้ด้วย


นอกจากนี้ยังตอบโจทย์หนึ่งในข้อจำกัดสำคัญของประเทศสิงคโปร์ตอนนี้ คือมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด อัลเทอร์แพ็กส์ จึงคิดค้นวิธีการจัดการกับขยะอาหารแทนการฝังกลบนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่พบปัญหาข้อจำกัดด้านพื้นที่คล้ายกัน


ทั้งนี้ มีสถิติที่น่าสนใจว่า ในทุก ๆ วันจะมีขยะพลาสติก 8 ล้านชิ้น ไหลลงสู่ท้องทะเล และยังมีการค้นพบเศษชิ้นส่วนพลาสติกนี้ทั้งบนเกาะที่ห่างไกล พื้นทะเลที่ลึกที่สุด และยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งพลาสติกส่วนหนึ่งก็ย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายเรา


ดังนั้น ถ้ามีวัสดุที่มาทดแทนพลาสติกได้จริง ก็จะช่วยรักษาได้ทั้งธรรมชาติและตัวเรา


 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.tnnthailand.com/news/tech/158350/