ศักยภาพใหม่ของอัลตราซาวนด์ ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของร่างกายได้

นักวิจัยชาวอเมริกันค้นพบว่า หากใช้ Low-intensity focused ultrasound (LIFU) เข้าไปในส่วนลึกของสมองที่เรียกว่า Insula จะทำให้ร่างกายลดระดับการรับรู้ถึงความเจ็บปวดหรือผลกระทบอื่น ๆ จากอาการเจ็บปวด ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ


            ผลงานวิจัยล่าสุดของ Dr. Wynn Legon ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของสถาบันวิจัยชีวการแพทย์ Fralin ที่ VTC รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร PAIN (เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2024) แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่า  ผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงหรือเรื้อรัง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับยา Paracetamol (Acetaminophen) บรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ในกลุ่ม NSAIDs อย่าง Ibuprofen รวมไปถึงยาแก้ปวดชนิดที่เสพติดได้ในกลุ่มฝิ่นอีกต่อไป เนื่องจากทีมวิจัยของ Dr. Legon ได้ทำการศึกษาเชิงพิสูจน์หลักการว่า การจัดการกับบางจุดในสมองด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์จะเปลี่ยนปฏิกิริยาของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวด ทำให้การรับรู้ถึงความเจ็บปวดบรรเทาลงได้โดยตรง


         ผลการศึกษาของ Dr. Legon  พบว่า หากใช้อัลตราซาวนด์ในลักษณะที่เรียกว่า Low-intensity focused ultrasound (LIFU) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ในการส่องดูทารกในครรภ์ ส่งคลื่นเสียงแถบแคบไปยังส่วนหลังของ Insula หรือกลีบสมองที่ห้า อันเป็นส่วนที่ลึกลงไปในรอยแยก Sylvian ด้วยความเข้มข้นต่ำของคลื่นอัลตราซาวนด์ เนื้อเยื่อสมองจะไม่ถูกทำลาย แต่จะทำให้เกิดผลกระทบทางชีวภาพที่ราบรื่นนุ่มนวลกว่า เช่น การถ่ายทอดสัญญาณไฟฟ้าของเซลล์ประสาทจะเปลี่ยนแปลงไป


          นักประสาทวิทยาพยายามศึกษามานานแล้วว่า มีเทคนิคใดบ้างที่ไม่ต้องใช้การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าและปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในสมอง เช่น การกระตุ้นด้วยแม่เหล็กผ่านกะโหลกศีรษะ ผลการศึกษานี้ของ Dr. Legon จึงเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่มุ่งเน้นไปที่ Insula และแสดงให้เห็นว่าคลื่นอัลตราซาวนด์สามารถเข้าถึงลึกเข้าไปในสมองเพื่อบรรเทาอาการปวดได้


 


        ผู้เข้าร่วมการทดลองในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงดี 23 คน พวกเขาจะถูกความร้อนรนที่หลังมือเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด ในเวลาเดียวกัน พวกเขาได้สวมอุปกรณ์ที่ส่งคลื่น focused ultrasound ไปยังจุดหนึ่งในสมองของพวกเขา โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) มาช่วยให้การชี้ตำแหน่ง จากนั้นผู้เข้าร่วมการศึกษาต้องให้คะแนนการรับรู้ความเจ็บปวดของตนในแต่ละครั้งตั้งแต่ระดับศูนย์ถึงเก้า


          นักวิจัยต้องเฝ้าติดตามอัตราการเต้นของหัวใจและความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจของผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคน จังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอนั้น จะช่วยแยกแยะว่าคลื่นอัลตราซาวนด์ที่ส่งไปยังสมองมีผลต่อปฏิกิริยาของร่างกายจากสิ่งเร้าที่สร้างความเจ็บปวดอย่างไร ผลปรากฏว่า ความเจ็บปวดของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดมีค่าความเจ็บปวดลดลงโดยเฉลี่ยสามในสี่ของจุดหนึ่ง ซึ่ง Dr. Legon ยอมรับว่า ค่าเฉลี่ยนี้อาจดูเล็กน้อย แต่หากเมื่อไรที่ค่าเฉลี่ยของจุดนี้เต็มร้อย นั่นจะมีความหมายมากในทางคลินิก และอาจสร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในคุณภาพชีวิต หรือสามารถจัดการกับอาการปวดเรื้อรังด้วยยาที่เราหาซื้อกันได้ตามร้านขายยา โดยไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวดกลุ่มฝิ่นที่แพทย์เป็นผู้ออกใบสั่งเท่านั้น


         เมื่อการใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ช่วยลดการตอบสนองทางกายภาพต่อความเครียดจากความเจ็บปวด อัตราการเต้นของหัวใจและความผันแปรของอัตราการเต้นของหัวใจจึงสะท้อนถึงภาวะสุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้นหลังจากการใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ การเพิ่มความสามารถของร่างกายในการจัดการและตอบสนองต่อความเจ็บปวด จึงอาจเป็นหนทางที่สำคัญในการลดภาระของโรค และงานวิจัยของ Dr. Legon ถือว่ามาถูกทาง และจะต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อตรวจหาผลกระทบของอัลตราซาวนด์ต่อปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งหาแนวทางปฏิบัติสำหรับการลดผลกระทบจากความเครียดที่เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย


 


ข้อมูล:  https://news.vt.edu/articles/2024/02/research_FBRI_legonPAIN_0224.html