ชายชาวอิตาเลียนคนแรกที่ใช้มือเทียมรุ่นใหม่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ "MiniTouch" ยืนยันว่า เขาสามารถรับรู้ถึงอุณหภูมิของสิ่งที่มือเทียมของเขาสัมผัสได้ ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น
ปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะมีอวัยวะขาเทียมหลากหลายรูปแบบที่สามารถสื่อถึงความรู้สึกสัมผัสได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีอุปกรณ์ใดที่ทำให้ผู้สวมใส่รับรู้ถึงอุณหภูมิของสิ่งที่อวัยวะเทียมนั้นสัมผัสได้อย่างแท้จริง แต่ล่าสุด อุปกรณ์ที่ชื่อ “MiniTouch” กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในโลกโซเชียลของชุมชนผู้พิการ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้พิการสามารถรับรู้และตอบสนองต่ออุณหภูมิของวัตถุหรือสิ่งที่อวัยวะเทียมนั้นได้สัมผัส ซึ่งนั่นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการแขนขาได้อย่างมากทีเดียว
ทีมนักวิจัยจาก Sant’Anna School of Advanced Studies ของอิตาลี และ École Polytechnique Fédérale (EPFL) ของสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันคิดค้นและพัฒนา "MiniTouch" และทดลองใช้กับนาย Fabrizio ชาวอิตาเลียน วัย 57 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุถูกตัดมือ โดยในระหว่างการทดสอบ นาย Fabrizio สามารถแยกแยะขวดที่บรรจุน้ำเย็นจัด น้ำในอุณหภูมิปกติ และน้ำร้อนได้อย่างแม่นยำ 100% แต่ถ้าไม่ใช้ MiniTouch ความแม่นยำลดลงเหลือแค่ 33% เขาสามารถบอกความแตกต่างระหว่างพลาสติก แก้ว และทองแดงได้มากกว่าแค่บังเอิญ อีกทั้งยังสามารถใช้มือเทียมจัดเรียงก้อนเหล็กตามลำดับของอุณหภูมิในก้อนเหล็กได้ถูกต้อง 75% รวมถึงสามารถแยกแยะการสัมผัสมือมนุษย์จริง ๆ กับมือปลอมได้ถูกต้อง 80% ขณะถูกปิดตาไว้
ในการทดลองครั้งนี้ ทีมวิจัยใช้แผ่นเซ็นเซอร์เพียงตัวเดียวที่ปลายนิ้วชี้ของมือเทียม รวมทั้งอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า thermode อันเป็นตัวปรับระดับความร้อนหรือเย็นตามคำสั่งของระบบเซ็นเซอร์ โดยขณะที่เซ็นเซอร์นิ้วกดกับพื้นผิวของวัตถุ จะเกิดสัญญาณไฟฟ้าตามระดับอุณหภูมิของพื้นผิวของสิ่งนั้น สัญญาณเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดไปยัง thermode และผลการทดลองก็แสดงให้เห็นว่า MiniTouch มีศักยภาพในการรับรู้อุณหภูมิของสิ่งที่มือเทียมสัมผัสได้เกือบ 100%
แต่ในการทดลองครั้งต่อ ๆ ไป ทีมงานวางแผนจะเพิ่มเซ็นเซอร์เป็นคู่ รวมทั้งระบบกระตุ้นความรู้สึกที่ไวต่ออุณหภูมิมากขึ้นที่มือเทียม อีกทั้งจะพัฒนาอวัยวะเทียมที่ผสมผสานศักยภาพด้านการสัมผัสกับการแยกแยะอุณหภูมิเข้าด้วยกันอีกด้วย
นาย Solaiman Shokur วิศวกรด้านระบบประสาทจาก EPFL สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิสในเมืองโลซานน์ กล่าวว่า การติดตั้ง MiniTouch กับอวัยวะเทียมก็ง่ายมากและใช้งานได้กับอวัยวะเทียมทุกรูปแบบ แต่ในการทดลอง MiniTouch ขั้นต่อไป ต้องทดสอบกับผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มใหญ่ขึ้นและต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง ไม่ใช่ในห้องปฏิบัติการอีกต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์นี้จะไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากอุณหภูมิอากาศหรือความชื้นสูง
ข้อมูล :