กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2565 ยกระดับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและมีอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี มุ่งเน้นจัดการสุขภาพใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ 2) การส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัย และ 3) การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ ชั้น 1 อาคาร 1 กรมอนามัย และผ่านระบบออนไลน์ Webex Meeting ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ปี 2565 จึงเป็นความท้าทายของกระทรวงสาธารณสุขที่จะวางแผนการทำงานให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมตามบทบาทภารกิจของกรมอนามัย โดยมุ่งเน้นจัดการสุขภาพใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1) การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างกระบวนการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลความรู้ ด้วยการจัดบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อประชาชนเพื่อพัฒนาทักษะและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งในปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยได้พัฒนาแพลตฟอร์มก้าวท้าใจ ส่งผลให้มีผู้เข้าร่วมโครงการในปี 2564 จำนวน 3,266,430 คน และในปี 2565 มุ่งเน้นให้จังหวัดสนับสนุนให้ประชาชนเข้าร่วมมากขึ้น โดยมุ่งเจาะไปทุกหน่วยงาน องค์กร เช่น โรงงาน สถานประกอบการ โรงเรียน ชุมชน เป็นต้น
2) การส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัย เน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดอุปสรรคในการจัดบริการปกติ เช่น ปิดศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน หรือปิดแผนกของหน่วยบริการสาธารณสุข ดังนั้น ในปี 2565 จำเป็นต้องออกแบบบริการใหม่ให้ทุกกลุ่มวัยเข้าถึงบริการโดยง่าย สะดวก ทั้งเชิงรุกในพื้นที่ หรือใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การฝากครรภ์คุณภาพและฉีดวัคซีน การส่งเสริมการเล่นและพัฒนาการเด็ก สุขภาพช่องปาก เป็นต้น
ประเด็นสุดท้าย คือ 3) การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ถือเป็นมาตรการสำคัญในการจัดการภาวะคุกคามสุขภาพประชาชน โดยให้ทุกจังหวัดเน้นเรื่องการควบคุม กำกับ โดยเฉพาะการให้อำนาจเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย เพื่อไปกำกับมาตรฐาน เช่น มาตรฐานตลาด เนื่องจากตลาดหลายแห่งไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐาน จึงเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น หรือกิจการประเภทอื่น ๆ ก็เช่นกัน ที่สร้างเหตุรำคาญ จำเป็นต้องควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด โดยในปีหน้าจะเน้นเรื่องอาหารปลอดภัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประชาชน รวมถึงต่อยอดทางเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะร้านอาหาร Street food ตลาดสด และตลาดนัด ดังนั้น การขับเคลื่อนประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และเกิดการขับเคลื่อนทางสังคมและเศรษฐกิจ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริหารระดับจังหวัด ในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติของบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ และส่งมอบบริการที่มีคุณค่าสู่ประชาชน เกิดความมั่นคงทางสุขภาพ ซึ่งผลสำเร็จตามเป้าหมายจะไม่สามารถเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ หากขาดการบูรณาการและผนึกกำลังเครือข่ายการดำเนินงาน โดยเฉพาะสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่ถือได้ว่าเป็นเครือข่ายในพื้นที่ที่มีความใกล้ชิด เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้สำเร็จ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยในฐานะกลไกหลักระดับชาติในการขับเคลื่อนระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ตามกรอบทิศทางและแผนปฏิบัติการ ในปีงบประมาณ 2565 ที่มุ่งเน้นการพัฒนายกระดับสุขภาพกลุ่มวัย และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ซึ่งเชื่อมโยงและสอดรับกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำนวน 12 แผน และแผนปฏิรูปประเทศ จำนวน 2 ประเด็น 4 Big Rocks โดยกรมอนามัยได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพหลักของแผนแม่บทฯ ในประเด็นการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี เป้าหมาย คือการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ และประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต เป้าหมายคือเด็กเกิดอย่างมีคุณภาพมีพัฒนาการสมวัย สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการปฏิรูประบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุด้านการบริบาลดูแลรักษาที่บ้าน/ ชุมชน และระบบสนับสนุนการเตรียมตัวของประชาชนในการเป็นผู้สูงอายุในอนาคตด้วย