Social Mediaแฝงอันตราย….ใช้อย่างไรให้เด็ก ๆ ปลอดภัย

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผย ปัจจุบันเด็ก ๆ สามารถเข้าถึง Social Media ได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงเรียนออนไลน์ที่ต้องใช้อุปกรณ์ในการเรียนและใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างนาน ผู้ปกครองเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการคัดกรองการเข้าถึง Social Media ต่าง ๆ รวมทั้งแก้ปัญหาและปกป้องเด็ก ๆ จากอันตรายในการใช้
           นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงเรียนออนไลน์เด็กสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้า Social Mediaได้ง่าย และใช้เวลาค่อนข้างมาก อีกทั้งผู้ปกครองอาจดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้เด็ก ๆ รับข่าวสารผ่านสื่อได้มาก ซึ่งมีข้อดี คือ สามารถหาความรู้ต่าง ๆได้ทันโลก และกว้างขวาง แต่บางครั้งข้อมูลอาจไม่ถูกต้องหรือบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ โดยหากเด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก Social Mediaocial แนะนำให้งดใช้ Social Media ชั่วคราว เพื่อลดการรับข้อมูลที่กระทบต่อจิตใจ หากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข้อมูลที่ทำให้ตนเองหรือครอบครัวเสียหาย เช่น การวิจารณ์โดยใช้คำพูดไม่เหมาะสม เด็กสามารถกด report โพสต์นั้น และ block เพื่อไม่ให้ถูกคุกคาม ร่วมกับสามารถ capture หน้าจอเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับดำเนินคดีทางกฎหมายได้ และให้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครองเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ ให้หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้น และหากข้อมูลข่าวที่ทำให้ไม่สบายใจนั้นเกิดจากสิ่งที่ผู้ปกครองเผยแพร่ สามารถบอกผู้ปกครองให้ลบข้อมูลนั้นและแจ้งว่าครั้งหน้าจะต้องได้รับความยินยอมก่อนเผยแพร่ข้อมูล เช่น รูป วิดีโอ หรือข้อความต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก
           นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็ก ๆ ที่ได้รับข้อมูลจาก Social Media ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องโดยปรึกษากับผู้ปกครอง สำหรับข้อมูลที่เป็นภาพนิ่งหรือคลิปวิดีโอ อาจจะไม่สามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริงทั้งหมด เพราะสามารถเป็นมุมกล้อง หรือตัดต่อคลิปได้ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ ควรงดการส่งต่อข้อมูลที่มีผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น ถ้าอยากแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูลนั้น ๆ ให้แสดงความเห็นอย่างสุภาพ ถ้าเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนที่รู้จัก อาจจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อจิตใจและไม่ควรตอกย้ำเกี่ยวกับข่าว ควรให้กำลังใจหรือพร้อมที่จะช่วยเหลือถ้าต้องการได้
          สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการลงข้อมูล ภาพ หรือวิดีโอใน Social Media ที่เกี่ยวกับเด็ก ควรคำนึงถึงเรื่องสิทธิและเรื่องส่วนตัว (privacy) ของเด็ก สอดส่องเรื่องการใช้ Social Media ของเด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ หากสังเกตว่าเด็ก ๆ มีอารมณ์หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในช่วงที่ใช้หรือหลังใช้ Social Media ให้เข้าไปพูดคุยสอบถามรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ Social Media แก่เด็ก เช่น การเคารพสิทธิผู้อื่น การแสดงความเห็นอย่างสุภาพ การตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล การมีวินัยในการใช้ให้เป็นเวลา การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อได้ทำผิดพลาดจากการใช้ Social Media ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากทั้งเด็กและผู้ปกครอง คือ การที่เข้าไปเป็นผู้เกี่ยวข้องกับ Cyber bully เพราะจะส่งผลเสียตามมาได้อย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างสามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยมีครอบครัวเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับเด็ก จัดการแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน