ข้อมูลจาก 3 การศึกษาใหม่ล่าสุดในสหรัฐอเมริกายืนยันวัคซีน COVID-19 เข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น ช่วยให้มีการปกป้องที่ดีที่สุดของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ Omicron ขณะที่สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มทรงตัว กระทรวงสาธารณสุขเผยผลทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนโควิด 8 สูตร ที่ใช้ในประเทศไทย พบจัดการเชื้อกลายพันธุ์ Delta ได้ดีกว่า Omicron แต่การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงรับมือ Omicron ได้ แนะผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มารับเข็มกระตุ้นตามที่กำหนด
ขณะที่สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 หรือโรค COVID-19 ในทั่วโลกยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนแรกในปี 2565 โดยเฉพาะการระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์ Omicron ซึ่งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) หรือ WHO ยืนยันว่าเชื้อกลายพันธุ์ Omicron ที่ระบาดรวดเร็วกว่าแต่มีความรุนแรงน้อยกว่าเชื้อกลายพันธุ์ Delta ได้กลายเป็น dominant variant ของทั่วโลกอย่างเต็มตัวแทนที่ Delta ไปแล้วนั้น เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 คณะผู้วิจัยที่มีชื่อเครือข่ายว่า VISION Network ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพจากเวชปฏิบัติจริง (real-world data) ของวัคซีน COVID-19 ชนิด messenger RNA (mRNA) ได้แก่ BNT162b2 (Pfizer-BioNTech) และ mRNA-1273 (Moderna) เข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น ที่มีต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ชาวอเมริกันจำนวนกว่า 200,000 คน ใน 10 มลรัฐ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 โดยผลการศึกษานี้ได้รับการเผยแพร่ใน Morbidity and Mortality Weekly Report (MMWR) ฉบับที่ 71 (21 มกราคม 2565) ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC)
ในช่วงตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2565 คณะผู้วิจัย VISION Network ทำการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19 ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลของชาวอเมริกันอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 222,772 คน ที่ไปพบแพทย์ (visits) ที่ emergency departments (EDs) และ urgent care (UC) clinics ของโรงพยาบาล 383 แห่ง ใน 10 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ California, Colorado, Indiana, Minnesota, Wisconsin, New York, Oregon, Texas, Utah และ Washington และผู้ป่วยโรค COVID-19 อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 87,904 คน ที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 259 แห่ง ใน 10 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา ดังที่กล่าวมาแล้ว
โดยในช่วงที่เป็น Delta predominance (สิงหาคมถึงประมาณกลางเดือนธันวาคม 2564) มีประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA ต่อผู้ที่ไปพบแพทย์ที่ EDs และ UCs ที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันเป็นลบต่อ COVID-19 (ป้องกันการติดเชื้อ COVID-19) อยู่ที่ 86% 14-179 หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2, 76% ตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2 และ 94% ตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 3 ขณะที่มีประสิทธิภาพประมาณการของวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA ในช่วงที่เป็น Omicron predominance (ครึ่งหลังของเดือนธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 4 มกราคม 2565) อยู่ที่ 52% 14-179 หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2, 38% ตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2 และ 82% ตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 3
ขณะที่ในแง่ของการลดความรุนแรงของโรค COVID-19 หรือลดความจำเป็นที่ผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 จะต้องเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่า มีประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19 อยู่ที่ 90% 14-179 วัน หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2, 81% ตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2 และ 94% ตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 3 ส่วนในช่วงที่เป็น Omicron predominance (ครึ่งหลังของเดือนธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 4 มกราคม 2565) มีประสิทธิภาพประมาณการของวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA อยู่ที่ 81% 14-179 วันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2, 57% ตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2 และ 90% ตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 3
ส่วนการศึกษาที่ 2 ซึ่งดำเนินการโดย Amelia G. Johnson และคณะ ก็ได้รับการเผยแพร่ใน Morbidity and Mortality Weekly Report (MMWR) ฉบับที่ 71 เช่นกัน โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของชาวอเมริกันอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 9,600,000 คน จาก 25 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา ในช่วงวันที่ 4 เมษายนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ซึ่งประกอบด้วยช่วงของ Delta predominance (กรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2564) และช่วง Omicron emergence (ธันวาคม 2564) พบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น (ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน Ad.26.COV2.S ของ Janssen (Johnson & Johnson), BNT162b2 ของ Pfizer-BioNTech หรือ mRNA-1273 ของ Moderna มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรค COVID-19 สายพันธุ์ Omicron น้อยกว่าอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 และผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 แค่ 1 หรือ 2 เข็มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เป็น Omicron emergence พบว่ามี case rate ของการติดเชื้อกลายพันธุ์ Omicron สูงสุดอยู่ที่ 725.6 cases per 100,000 คน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน COVID-19, รองลงไปเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 แค่ 1 หรือ 2 เข็มแรก อยู่ที่ 254.8 cases per 100,000 คน และมีอัตราการติดเชื้อกลายพันธุ์ Omicron ต่ำที่สุดอยู่ที่ 148.6 cases per 100,000 คน สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มกระตุ้น
การศึกษาที่ 3 เป็นการศึกษาแบบ case-control study โดย Emma K. Accorsi และคณะ ที่ได้รับการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของวารสาร JAMA เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 การศึกษานี้มุ่งประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA เข็มกระตุ้น และ symptomatic infection ที่เกิดจากเชื้อกลายพันธุ์ Delta และ Omicron โดยผลการศึกษา พบว่า การฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA (BNT162b2 ของ Pfizer-BioNTech หรือ mRNA-1273 ของ Moderna) เข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้น ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้รอดพ้นจากการติดเชื้อกลายพันธุ์ทั้ง Delta และ Omicron โดยมีโอกาสน้อยกว่าถึงประมาณ 66% ที่จะเกิด symptomatic infection จากการติดเชื้อกลายพันธุ์ทั้ง Delta และ Omicron เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA แค่ 2 เข็มแรก
สำหรับสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดสอบภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน โดยใช้ไวรัสจริงแยกได้จากผู้ป่วย และปฏิบัติการภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ด้วยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) คือ การเจาะเลือดของผู้รับวัคซีนโควิด- 19 มาแล้ว 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันขึ้นมากพอ นำมาปั่นแยกเอาซีรั่มมาทดสอบกับไวรัสโควิดที่เพาะเลี้ยงในจานทดลอง โดยจะเจือจางซีรั่มครั้งละเท่าตัวจนกว่าจะถึงระดับที่ทำลายเชื้อไวรัสลงได้ครึ่งหนึ่ง หรือ NT50 ซึ่งเป็นระดับสุดท้ายที่น่าจะป้องกันการติดเชื้อได้ โดยได้ทดสอบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มีการใช้ในประเทศไทย 8 สูตร ได้แก่ ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า , แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม , ไฟเซอร์ 2 เข็ม , ซิโนแวค-ไฟเซอร์ , แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ , ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า , ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ผลการทดสอบพบว่าวัคซีนทุกสูตรจัดการกับเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ค่อนข้างดี แต่ลดลงเมื่อเจอกับสายพันธุ์โอมิครอน สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานว่า โอมิครอนน่าจะหลบวัคซีนได้ดีกว่าเดลตา โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนไม่สูงมากนัก แต่ยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ค่าภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นอย่างมาก ช่วยลดการติดเชื้อ แพร่เชื้อ และลดเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้มากขึ้น โดยต้องศึกษาต่อไปว่าระดับภูมิคุ้มกันจะสูงต่อเนื่องได้นานเพียงใด จึงขอเชิญชวนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ให้ลงทะเบียนรับวัคซีนเข็ม 3 ตามที่กำหนด
“นอกจากนี้ กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ที่กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์อีกสูตรหนึ่ง รวมถึงกำลังเร่งศึกษากรณีการติดเชื้อโอมิครอนแล้วภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อจะช่วยจัดการสายพันธุ์เดลตาได้ด้วยหรือไม่” นพ.ศุภกิจกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงสถานการณ์โรคโควิด- 19 และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดย นายอนุทินกล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่ 2565 จนถึงวันนี้ มีสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคลดลง ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักใส่เครื่องช่วยหายใจและเข้า ไอ.ซี.ยู.ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วงขาลงไม่เกิน 20 รายต่อวัน ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ สอดคล้องกันว่า เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนติดง่ายแต่รุนแรงไม่เท่าเดลตา ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนข้อเสนอจากคณะแพทย์ สถาบันการแพทย์ต่าง ๆ ที่ให้มีมาตรการที่ประชาชนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากที่สุด และเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุดและเร็วที่สุด และพร้อมเสนอมาตรการเพิ่มหากมีสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 7,916 ราย มาจากต่างประเทศ 242 ราย และเสียชีวิต 15 ราย ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบพบ 510 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย แนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ช่วงแรกของเดือนมกราคม 2565 พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ผ่านมา 14 วัน สถานการณ์การติดเชื้อเริ่มทรงตัวและอาจลดลงได้ ส่วนสถานการณ์เสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากการฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมและเชื้อลดความรุนแรงลง ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดีขึ้นจะมีการพิจารณาลดระดับการเตือนภัยประชาชนจากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 4 โดยยังขอให้ประชาชนป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา งดเข้าสถานที่เสี่ยง และชะลอการเดินทาง
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ฉีดสะสม 108.5 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 51.6 ล้านคน ครอบคลุมประชากร 76.92% เข็มสอง 47.2 ล้านคน ครอบคลุม 70.32% และเข็มสาม 9.15 ล้านคน ครอบคลุม 13.63% โดยจะพยายามเร่งฉีดเข็ม 3 ในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ให้ถึง 50% ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกระดับ
ส่วนมาตรการรับมือโอมิครอนมี 4 ด้าน คือ 1.มาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อชะลอการระบาด ซึ่งที่ผ่านมา 14 วัน ถือว่าการระบาดอยู่ในการควบคุม ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือ และขอความร่วมมือฉีดวัคซีน คัดกรองตนเองด้วย ATK ต่อไป 2.มาตรการการแพทย์ เน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน โดยจัดยา เวชภัณฑ์ พร้อมติดตามอาการทุกวัน ถ้าอาการเพิ่มขึ้นจะส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาล 3.มาตรการทางสังคม ขอให้ร่วมมือป้องกันตนเองสูงสุด สถานประกอบการใช้ COVID Free Setting และ 4.มาตรการสนับสนุน เรื่องค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม และขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินตามมาตรการ VUCA คือ V ไปฉีดวัคซีนตามกำหนด U ป้องกันตนเองกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา C ใช้ COVID Free Setting ทำให้สถานที่ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการมีความปลอดภัย และ A ตรวจ ATK เป็นประจำ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด- 19 ในพื้นที่จริง ตั้งแต่ช่วงสิงหาคม - ธันวาคม 2564 จากการฉีดวัคซีนสูตรต่าง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดใน 4 พื้นที่ ซึ่งแต่ละช่วงเวลามีการระบาดของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้ 1.ภูเก็ต ช่วงเดือนสิงหาคมมีสายพันธุ์อัลฟา 2.กรุงเทพมหานคร ช่วงกันยายน-ตุลาคม มีทั้งอัลฟาและเดลตา 3.เชียงใหม่ ช่วงธันวาคม มีสายพันธุ์เดลตา และ 4.กาฬสินธุ์ ช่วงธันวาคม มีสายพันธุ์โอมิครอน จากการวิเคราะห์พบว่า วัคซีนทุกสูตรมีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงประมาณ 90-100% ส่วนการป้องกันการติดเชื้อมีประสิทธิผลสูงพอสมควร แต่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นหรือการฉีดสูตรไขว้ จะเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้น จึงช่วยควบคุมการระบาดได้ดี สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายและรับเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ พบว่า มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตสูงไม่แตกต่างกัน ส่วนการรับเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์สามารถป้องกันโอมิครอนได้ 80-90%
พร้อมกันนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI & CI first) เนื่องจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และอีก 30% มีอาการไม่มาก แต่หากประเมินพบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงจะส่งไปยังฮอสปิเทล โรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลักต่อไป สำหรับข้อกังวลเรื่องสถานการณ์เตียงนั้น จากข้อมูลเตียงโรงพยาบาลและฮอสปิเทลเปรียบเทียบระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2565 ที่เริ่มพบจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากขึ้น และวันที่ 13 มกราคม 2565 พบว่า การใช้เตียงสีแดงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักลดลง โดยทั่วประเทศจาก 213 เตียง เหลือ 182 เตียง ส่วนกรุงเทพมหานครคงเดิม คือ 25 เตียง, เตียงสีเหลืองมีการใช้เพิ่มขึ้น โดยทั่วประเทศจาก 1,681 เตียง เป็น 3,095 เตียง กรุงเทพมหานครจาก 513 เตียง เป็น 1,246 เตียง เนื่องจากแพทย์ต้องการเฝ้าระวังสังเกตอาการกลุ่มเสี่ยง และเตียงสีเขียวทั่วประเทศใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นเตียง ส่วนกรุงเทพมหานครใช้เพิ่มประมาณ 3 พันเตียง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเตียงยังมีเพียงพอรองรับได้
ขณะที่ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ขยายศักยภาพโรงพยาบาลเอกชนในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไปสู่โรงแรม เพื่อรองรับประชาชนที่มีอาการรุนแรงขึ้นให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยข้อมูลวันที่ 13 มกราคม 2565 ได้อนุมัติให้โรงพยาบาลเอกชนจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ฮอสปิเทล จำนวน 162 แห่ง รวม 49,137 เตียง ขณะนี้เปิดดำเนินการ 145 แห่ง รวม 30,240 เตียง แบ่งเป็น ระดับ 1 สีเขียว 28,645 เตียง ครองเตียง 14,979 เตียง มีเตียงว่าง 13,666 เตียง หรือเกือบ 50% ระดับ 2.1 สีเหลือง 1,187 เตียง ครองเตียง 472 ราย มีเตียงว่าง 715 เตียง ระดับ 2.2 สีเหลืองที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ High Flow 352 เตียง ครองเตียง 55 เตียง ว่าง 297 เตียง และเตียงระดับ 3 สีแดง มี 56 เตียง ครองเตียง 4 เตียง ว่าง 52 เตียง
นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 7) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปรับลดอัตราค่าตรวจหาเชื้อโควิด- 19 ด้วยวิธี RT-PCR จากเดิมฉบับแรก 3,125 บาท เป็น 1,300 -1,500 บาท และลดค่าห้องในโรงพยาบาลสนามฮอสปิเทล จากเดิม 1,500 บาท เป็น 1,000 บาท โดยได้หารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนและกองทุนที่เกี่ยวข้อง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดบริการให้กับประชาชน ส่วนกรณีประกันสุขภาพจะครอบคลุมการดูแลด้วย HI/CI ในกรณีการตรวจด้วย ATK หรือไม่ อธิบดี สบส. ได้มีการหารือกับรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่ง คปภ. จะนำสภาพปัญหาและรายละเอียดไปประชุมร่วมกับบริษัทประกันภัย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป