เป็นประจำทุกปี ในเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นเดือนที่อบอวลไปด้วยกลิ่นไอแห่งความรัก โดยเฉพาะวันวาเลนไทน์ ซึ่งการแสดงออกซึ่งความรักมีหลากหลาย และอาจลงเอยด้วยการมีเพศสัมพันธ์
แล้วทำอย่างไรจึงมีความสุขและปลอดภัย เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ต้องการ ที่ว่าปลอดภัยนี้ก็คือ เจ้า"ถุงยางอนามัย" นั่นเอง หลายคนมักบ่นว่า ใส่แล้วไม่สนุกบ้าง ไม่ถึงใจ เหมือนมีกำแพงกั้นบ้างล่ะ แต่... ขอบอกว่า ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ที่ยังไม่พร้อมได้ ถือเป็นถุงวิเศษ ที่ต้องเรียนรู้ว่าใส่อย่างไรจึงจะเติมเต็มความสุขอย่างปลอดภัย มาเริ่มกันด้วย
1. เลือกขนาดถุงที่เหมาะสม ถ้าใหญ่ไป ก็หลวมหลุด ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าเล็กไป ก็อาจมีแตกระเบิดได้
2. ซองไม่ขาด และไม่หมดอายุ เรื่องนี้สำคัญ ควรดูวันหมดอายุก่อนซื้อให้ดี เพื่อคุณภาพที่คาดหวังไว้
3. ใส่เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่ และใส่ตั้งแต่มีการสอดใส่ครั้งแรก เพราะน้ำอสุจิบางส่วนรวมถึงเชื้อโรคจะออกมาได้ตั้งแต่ก่อนมีการหลั่งน้ำอสุจิ
4. ฉีกซองด้วยมือ อย่าตัดด้วยกรรไกรเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นถุงยางอาจขาดและเสียของทันที
5. บีบกระเปาะตรงปลายบน ก่อนรูดลงไปที่โคนองคชาต เพื่อให้เป็นส่วนที่กักเก็บน้ำอสุจิ
6. เอาขอบที่ม้วน ๆ ไว้ด้านนอก เพื่อรูดลงได้ง่าย หากพลาดสลับด้านไปแล้ว ควรทิ้งถุงยางอนามัยชิ้นนั้น เพราะน้ำอสุจิที่ออกมาตอนแรกอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้
7. รูดลงไปถึงโคน ไม่งั้นหลุดแน่
8. ใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำไว้ว่า เขาผลิตมาให้ใช้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น อย่าประหยัดไม่เข้าท่า
9. ใช้เสร็จ เอากระดาษทิชชูรวบทิ้งขยะ อย่าให้น้ำอสุจิหกเลอะ เพราะอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้
10. อย่าเอาอวัยวะเพศไปสัมผัสกันอีก เพราะเชื้ออสุจิยังคงมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวขององคชาต
มีข้อเตือนอยู่บ้าง ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เฉพาะส่วนที่มันครอบคลุม ไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่และเริมได้ และระหว่างมีเพศสัมพันธ์เกิดถุงยางแตกขึ้นมา ให้รีบใช้ยาคุมฉุกเฉินโดยเร็วที่สุดรวมถึงตรวจติดตามโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจแถมมา
หากต้องการคำปรึกษาติดต่อได้ที่ หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี (คลินิก 309) โทร. 0 2412 9689 หรือ 0 2419 7377 เวลา 07.00-15.30 น. (ในวันเวลาราชการ)
เป็นอีกหนึ่งความห่วงใยสำหรับทุกคู่รักในวันวาเลนไทน์
ขอขอบคุณแหล่งที่มา
- หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ สำหรับประชาชน