สบยช. แนะแก้ไขปัญหาเด็กยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ แนะการแก้ไขปัญหาเด็กและวัยรุ่นยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชน "รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม" (คำขวัญวันเด็กประจำปี 2565 มอบให้เด็กไทย โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี)
          นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน รูปแบบการแพร่ระบาดจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ในขณะนั้น ๆ ซึ่งปัจจุบันผู้ค้ายาเสพติดมักจะหาวิธีการขายในรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผสมตัวยาหลากหลายชนิด การนำยาเสพติดใส่ในบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ และลักลอบจำหน่ายโดยใช้ Social Media หรือสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมกับการโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก ประกอบกับ พ่อ แม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อหาเงินทองมาเลี้ยงดูบุตรหลานและใช้จ่ายภายในครอบครัว ทำให้มีการพูดคุยกับบุตรหลานน้อยลง ร่วมกับความอยากรู้อยากลอง ความต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเมื่อมีปัญหาหรือมีเรื่องสงสัยก็มักจะปรึกษาหาทางออกกันเองภายในกลุ่มเพื่อน อาจเป็นสาเหตุให้ถูกชักจูงและชี้นำไปในทางผิดได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องยาเสพติด หรือการใช้ยารักษาโรคไปในทางที่ผิด ดังนั้น พ่อ แม่ ผู้ปกครองยุคใหม่ ต้องติดตามข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ดูแลเอาใจใส่พร้อมสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน พยายามหาเวลาพูดคุย หรือหากิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ ปรับเปลี่ยนจากผู้ออกคำสั่ง เป็นเพื่อนที่พร้อมจะเข้าใจ ต้องทำให้บุตรหลานไม่กลัวและกล้าที่จะปรึกษาหากพวกเขาประสบกับปัญหาต่าง ๆ
          นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันเด็กให้แก่เด็กไทยความว่า “ รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม” สอดคล้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ชุมชน ครอบครัว ส่งเสริมสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ทั้งในด้านวิชาการ เข้าใจและตระหนักถึงโทษพิษภัยของยาเสพติดผลต่อตนเองและสังคม  เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต รู้จักปฏิเสธหากถูกชักชวนหรือบังคับให้ลองใช้ยาเสพติด รู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผล มีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ คิดหรือทำอย่างครบถ้วนในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดต้องไม่เผอเรอไปใช้หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างเด็ดขาด เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีจิตสาธารณะและพร้อมที่จะปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ทั้งนี้ ย้ำเตือนกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่คิดอยากจะลองใช้ยาเสพติด นำยารักษาโรคไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ให้ตระหนักถึงอันตรายของยาเหล่านั้นให้มาก ยาและสารเสพติดล้วนส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อร่างกายผู้เสพ และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงต่าง ๆ ร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
          ทั้งนี้ หากพบบุตรหลาน หรือคนใกล้ชิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี