ยาฉีด NIRSEVIMAB เพียงเข็มเดียว ความหวังที่น่าตื่นเต้นสำหรับป้องกันไวรัส RSV

มีความหวังที่สดใสมากขึ้นสำหรับการป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV  ในทารกและเด็กเล็กที่ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันได้ ผลการศึกษาทางคลินิกที่สำคัญการศึกษาหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การฉีดยาชีววัตถุ Nirsevimab แค่เข็มเดียวสามารถให้การปกป้องทารกและเด็กเล็กจากการติดเชื้อไวรัส RSV ได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างปลอดภัยตลอดฤดูกาลระบาดของเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้
          ผลของการศึกษาทางคลินิกที่มีชื่อว่า MELODY ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ international, randomized, placebo-controlled Phase 3 trial ที่มีเป้าประสงค์ในการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาชีววัตถุ nirsevimab เปรียบเทียบกับ placebo ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV (respiratory syncytial virus) ในทารกสุขภาพแข็งแรงจำนวนเกือบ 1,500 คน ซึ่งได้รับการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine (NEJM) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 แสดงให้เห็นว่า ทารกที่ได้รับยาชีววัตถุ nirsevimab ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพียงเข็มเดียว สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (lower respiratory tract infections หรือ LRTIs) เช่น ปอดบวมและหลอดลมฝอยอักเสบ จากเชื้อไวรัส RSV ได้ถึง 74.5% ตลอดฤดูกาลระบาดของเชื้อไวรัส RSV
          Nirsevimab เป็น long-acting anti-RSV monoclonal antibody ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัยทางคลินิกสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในทารกและเด็กเล็ก และรวมถึงในผู้สูงอายุด้วย ขณะเดียวกันการติดเชื้อไวรัส RSV ยังเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการนอนโรงพยาบาลของทารกและเด็กเล็ก โดย nirsevimab ได้รับการปรับแต่งโครงสร้างโมเลกุลให้มี half-life ยาวนานขึ้นเฉลี่ย 80-120 วัน จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ตลอดฤดูกาลระบาดในแต่ละปี
          ใน MELODY trial ซึ่งดำเนินการโดย รศ.พญ. Laura Hammitt (Department of International Health, Department of International Health, Johns Hopkins University, Baltimore, Maryland, USA) และคณะ ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ถึงกุมภาพันธ์ ปี 2021 โดยทารก late-preterm และ term infants (gestational age อย่างน้อย 35 สัปดาห์) ที่มีสุขภาพแข็งแรงและเข้าสู่ฤดูกาลระบาดของเชื้อไวรัส RSV เป็นครั้งแรก จำนวนทั้งสิ้น 1,490 คน ได้รับการ enrolled ให้เข้าร่วมการศึกษา ทารกเหล่านี้ถูกสุ่ม (2:1) ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจำนวน 994 คน ได้รับ nirsevimab (50 mg สำหรับทารกที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 5 กิโลกรัม หรือ 100 mg สำหรับทารกที่มีน้ำหนักเท่ากับหรือมากกว่า 5 กิโลกรัมขึ้นไป) เพียงเข็มเดียว ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 496 คน ได้รับ 50 mg normal saline placebo ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเช่นกัน โดยฉีดก่อนจะเริ่มฤดูกาลระบาดของเชื้อไวรัส RSV (ประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ใน Southern Hemisphere และประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ใน Northern Hemisphere ของแต่ละปี)
          Primary efficacy endpoint ของ MELODY trial ก็คืออุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ที่ยืนยันด้วยผลตรวจ reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR) ในห้องปฏิบัติการ ในช่วง 150 วัน หลังจากได้รับการฉีด nirsevimab หรือ normal saline placebo ส่วน secondary efficacy endpoint ก็คือการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ที่ยืนยันด้วยผลตรวจ RT-PCR ในห้องปฏิบัติการเช่นกัน ในช่วง 150 วัน หลังจากได้รับการฉีด nirsevimab หรือ normal saline placebo
          ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทารกที่ได้รับ nirsevimab มีอุบัติการณ์ของ RSV-associated LRTIs น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับกลุ่มทารกที่ได้รับ normal saline placebo กล่าวคือ ใน 12 คน (1.2%) เทียบกับใน 25 คน (5.0%) ตามลำดับ ซึ่งแปลผลได้ว่า nirsevimab มีประสิทธิภาพดีกว่าในการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ได้ถึง 74.5% (95% confidence interval 49.6 to 87.1; p<0.001) เมื่อเทียบกับ normal saline placebo ขณะเดียวกันก็พบว่า กลุ่มทารกที่ได้รับ nirsevimab มีอุบัติการณ์ของการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อ RSV 6 คน (0.6%) เทียบกับ 8 คน (1.6%) ของกลุ่มทารกที่ได้รับ normal saline placebo (efficacy, 62.1%; 95% CI, -8.6 to 86.8; p = 0.07)
          ส่วนข้อมูลด้านความปลอดภัยที่สำคัญของ MELODY trial พบว่า มี serious adverse events เกิดขึ้นใน 6.8% ของกลุ่มทารกที่ได้รับ nirsevimab และ 7.3% ในกลุ่มทารกที่ได้รับ normal saline placebo อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยรายงานว่า serious adverse events ที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตของทารก 3 8o ในกลุ่มที่ได้รับ nirsevimab ไม่ได้เกิดจาก nirsevimab หรือ normal saline placebo
          อนึ่ง ปัจจุบันมียาชีววัตถุเพียงตัวเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ palivizumab (Synagis) ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration หรือ FDA) สำหรับป้องกัน serious LRTIs ที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องฉีด palivizumab ถึง 5 เข็ม จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ตลอดฤดูกาลแพร่ระบาดของไวรัสร้ายตัวนี้

          ก่อนหน้านี้ คณะนักวิจัย Nirsevimab Study Group ได้รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ nirsevimab เปรียบเทียบกับ normal saline placebo ในการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ในทารก preterm (29 weeks 0 days to 34 weeks 6 days of gestation) จำนวนทั้งสิ้น 1,453 คน โดยรายงานไว้ในวารสารการแพทย์ NEJM ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2020 โดยพบว่าการฉีด nirsevimab 50 mg เพียงเข็มเดียว เข้าทางกล้ามเนื้อ สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ในทารก preterm ได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติถึง 70.1% (95% confidence interval 52.3 to 81.2) เมื่อเทียบกับ normal saline placebo ขณะเดียวกันพบว่า การฉีด nirsevimab 50 mg เพียงเข็มเดียว เข้าทางกล้ามเนื้อ สามารถลดการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ลงได้ถึง 78.4% lower (95% confidence interval 51.9 to 90.3) ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับ normal saline placebo
          สำหรับ global disease burden ของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากไวรัส RSV ในเด็กเล็ก จากการศึกษาแบบ systematic review and modeling study ที่รายงานไว้ในวารสาร Lancet ปี 2017 พบว่า ทั่วโลกมีจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ติดเชื้อไวรัส RSV ถึงประมาณ 33 ล้านคน ในแต่ละปี  ในจำนวนนี้มีเด็กที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยภาวะ LRTIs ที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ถึงประมาณ 3 ล้านคน ในแต่ละปี และมีเด็กถึงประมาณ 120,000 คน ในแต่ละปีที่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV
          อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่สำคัญล่าสุดจาก 3-year postmortem prevalence study ที่ดำเนินการโดยคณะนักวิจัยแห่งวิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Boston University ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรายงานไว้ในวารสาร Lancet Global Health ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 โดยเป็นการศึกษาเพื่อประเมินอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส RSV ในชุมชนแห่งหนึ่งของแซมเบียในทวีปแอฟริกา ซึ่งจากการชันสูตรศพเด็กจำนวน 2,286 คน ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2017 ถึงสิงหาคม ปี 2020 พบว่า อย่างน้อยถึง 2.8% เป็นการเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ RSV โดยตรง และ 4.7% เป็นการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัส RSV ขณะเดียวกันพบว่า ราว ๆ 7-9% เป็นการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี  ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี   
          สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคย้อนหลังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในปี 2560 เชื้อไวรัส RSV ระบาดในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม พบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 9 แห่ง (โครงการ WHO RSV Surveillance  Pilot) จำนวน 1,935 คน ติดเชื้อ RSV จำนวน 148 คน คิดเป็นร้อยละ 7.65 และในปี 2561 พบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 9 แห่ง จำนวน 968 คน ติดเชื้อ RSV จำนวน 115 คน คิดเป็นร้อยละ 11.88 ซึ่งเชื้อดังกล่าวมีการระบาดเร็วกว่าเดิม คือ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และในช่วงฤดูกาลระบาดมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปี 2560 เฉลี่ยร้อยละ 30.26
          โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เชื้อไวรัส RSV ปกติมักระบาดมากในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว หรือประมาณเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เด็กที่ป่วยจะมีอาการเบื้องต้นคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดา มีน้ำมูก ไข้ ไอ จาม พ่อแม่จึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการคล้ายปอดอักเสบร่วมด้วย ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
          เชื้อไวรัส RSV เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เชื้อไวรัสนี้แพร่กระจายผ่านทางการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะจากผู้ติดเชื้อไวรัส โดยเชื้อ RSV สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผ่านทางการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ  การติดเชื้อดังกล่าวมักพบในเด็กเล็กซึ่งเป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น หากมีอาการไอ มีเสมหะจำนวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการถึงขั้นตัวเขียวซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
          ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV การรักษาจึงเป็นรักษาตามอาการเท่านั้น  ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในบริเวณสาธารณะ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อลดภาวะขาดน้ำและช่วยขับเสมหะ แต่ถ้าหากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่หย่านม สามารถให้เด็กดูดนมได้มากที่สุดตามต้องการ แยกอุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ของเด็ก ไม่ควรใช้ร่วมกัน

แหล่งที่มาของข้อมูล : WWW.EUREKALERT.ORG, WWW.MEDSCAPE.COM, WWW.NEJM.ORG, WWW.SANOFI.COM, WW.MEDPAGETODAY.COM, WWW.DRUGDISCOVERYTRENDS.COM, www.thelancet.com, www.ncbi.nlm.nih.gov