เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงวัยหมดประจำเดือน การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการสลายกระดูกมากขึ้น ประกอบกับการสร้างกระดูกที่ลดลง ส่งผลให้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน และกระดูกหักมากกว่าคนในวัยหนุ่มสาว
ในผู้ชายนั้น พบภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนน้อยกว่าผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมวลกระดูกสูงสุดในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง โรคกระดูกพรุนมักเกิดที่อายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป สาเหตุหนึ่งมาจากการรับประทานอาหารแหล่งแคลเซียมน้อยลง ร่วมกับการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ลดลง อายุที่เพิ่มขึ้นร่างกายมีภาวะพร่องวิตามินดีตามมาประกอบกับการออกกำลังกายลดลง เป็นสาเหตุที่เร่งให้เกิดการสลายกระดูกเร็วขึ้น เพื่อชะลอการเกิดภาวะกระดูกพรุน ผู้สูงอายุควรดื่มนม เพราะนมเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี อุดมด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุแนะนำให้ดื่มนมวันละ 1 -2 แก้ว หรือเลือกรับประทานโยเกิร์ตซึ่งย่อยง่ายกว่านม ที่สำคัญควรเป็นรสจืด เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุแคลเซียมเพียงพอ ป้องกันภาวะกระดูกพรุน หากมีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเลือกนมสูตรพร่องมันเนย ส่วนนมเปรี้ยวมีเปอร์เซ็นต์นมน้อยและน้ำตาลสูง ควรระวัง ผู้สูงอายุบางรายที่ดื่มนมไม่ได้อาจเลือกดื่มนมถั่วหลืองสูตรหวานน้อยแทนเพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนจากถั่ว และควรรับประทานอาหารแหล่งแคลเซียม เช่น ผักใบเขียวเข้ม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ร่วมด้วย ผักใบเขียวเข้ม 4 ทัพพี หรือปลาเล็กปลาน้อย 2 ช้อนกินข้าวหรือเต้าหู้แข็ง 1 ก้อน มีแคลเซียมเท่ากับนมประมาณ 1 แก้ว
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://multimedia.anamai.moph.go.th › drinking-milk