ประเภทของถุงมือยางและถุงมือพลาสติก

ปัจจุบันสถานการณ์โรค COVID-19 มีการระบาดในวงกว้าง เพื่อความปลอดภัยนอกจากการป้องกันตัวด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาดแล้ว การสวมถุงมือเพื่อป้องกันตัวเองเมื่อออกไปในที่สาธารณะหรือสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้
          การสวมถุงมือเป็นการป้องกันให้มือสะอาดได้  ไม่เป็นการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งที่เราไปสัมผัส ด้วยความหนาของถุงมือ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรนำมือไปสัมผัสกับใบหน้า แม้ว่าจะใส่ถุงมือก็ตาม ภายหลังจากถอดถุงมือออกก็ต้องล้างมือทำความสะอาดอีกครั้ง แล้วถ้าเกิดจำเป็นต้องใช้ขึ้นมา จะต้องเลือกใช้ถุงมือแบบไหนล่ะ? ถุงมือมีหลายชนิด มีทั้ง ถุงมือยาง ถุงมือพลาสติก ถุงมือผ้า ขึ้นอยู่กับผู้ใช้จะเลือกใช้ว่าถุงมือแบบไหนสะดวกในการใช้งาน Dr.D ขอแนะนำวิธีสังเกตลักษณะของถุงมือเพื่อเป็นทางเลือกในการเลือกใช้ให้เหมาะสมกันนะครับ ซึ่งถุงมือในท้องตลาดที่เราเห็น ๆ กัน มีดังนี้
          1. ถุงมือยางธรรมชาติ ลักษณะทางกายภาพ ข้อสังเกต คือ มีสีขาวครีม ยืดหยุ่นได้ดี ใส่แล้วกระชับมือ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา มีทั้งแบบมีแป้งและไม่มีแป้ง ส่วนใหญ่ใช้ในทางการแพทย์ (Medical glove)
          * มีข้อสังเกตที่ควรระวังมาฝากครับ ลองสังเกตดูนะครับว่า ถ้าต้องสวมใส่ถุงมือยางเป็นเวลานาน ๆ หากพบอาการคันและมีผื่นแดงขึ้น เป็นไปได้ว่าเกิดจากการแพ้โปรตีนจากน้ำยางธรรมชาติ จึงขอแนะนำให้เลือกใช้ถุงมือยางที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ หรือวัสดุอื่นแทน

          2. ถุงมือยางสังเคราะห์ไนไตร์ จะทนทานต่อสารเคมี จึงเป็นที่นิยมใช้ในห้องแล็บ ข้อสังเกต คือ มีสีสันหลากหลาย แต่มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าถุงมือยางธรรมชาติ

          3. ถุงมือ PVC (ยางสังเคราะห์ชนิด Polyvinyl chloride) ใช้สำหรับป้องกันอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีโดยตรงขณะปฏิบัติงาน หรืองานทั่วไป ลักษณะจะกึ่งใสกึ่งขุ่น เหมือนกระจกฝ้า ถุงมือชนิดนี้ไม่ควรใช้กับการสัมผัสอาหารประเภทไขมัน เพราะจะทำให้สารที่ช่วยทำให้พลาสติกนี้นิ่มและยืดได้ละลายออกมาได้

          4. ถุงมือพลาสติก PE หรือถุงมือที่เราใช้เวลาย้อมผม นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ใช้ในร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวขาหมู ร้านข้าวมันไก่ เพราะถุงมือนี้สามารถใช้จับอาหารมันหรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวได้
          ในสถานการณ์โรค COVID-19 แบบนี้ เพื่อลดการสัมผัสกับสิ่งของหรือบริเวณพื้นที่เสี่ยง เช่น ราวจับบนรถเมล์ ประตูรถสาธารณะ ประตูอาคารที่มีผู้ใช้จำนวนมาก หรือปุ่มลิฟต์ต่าง ๆ เป็นต้น เราควรเลือกใช้ถุงมือที่สวมใส่ง่ายและกระชับมือ
          ส่วนวิธีการถอด Dr.D ขอแนะนำให้ผู้ใช้จับขอบปลายข้อมือแล้วม้วนถุงมือด้านนอกเข้าด้านในและทิ้งขยะทันที ที่สำคัญควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะเชื้อโรคที่เราต้องเผชิญอยู่นี้มันน่ากลัวกว่าที่คิด อย่างไรก็ดี ถึงจะมีการใส่ถุงมือป้องกันก็ควรจะระวังไม่ขยี้ตา จับใบหน้า จับจมูก เพราะนอกจากไม่ช่วยป้องกันแล้วยังจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายเหมือนเดิม แต่ทางที่ดีหมั่นล้างมือบ่อย ๆ กินร้อน แยกกิน เป็นการสร้างความปลอดภัยให้ตนเอง และผู้อื่นจะดีกว่านะครับ
          ทั้งนี้ ดร.อรวรรณ ปิ่นประยูร หัวหน้ากลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ กองวัสดุวิศวกรรม ได้พูดถึงเกร็ดความรู้ในการใช้ถุงมือยางหยิบจับอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการให้สัมภาษณ์กับทางวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา เรื่อง "การขับเคลื่อนยางพาราไทยสู่ตลาดโลกโดยการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐาน ISO" เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 64 ซึ่งสามารถรับฟังบทสัมภาษณ์ดังกล่าวตามลิ้งก์นี้เลยครับ
          http://tpchannel.org/radio/ondemandlist_detail.php?id=3811

ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์บริการ