4 วิธีรับมือหน้าฝนอย่างง่าย ๆ เพื่อสุขภาพแข็งแรง

หลังจากผ่านช่วงร้อนที่สุดของปีในเดือนเมษายน ก็เริ่มจะมีฝนตกลงมา หนักบ้าง เบาบ้าง ช่วยให้คลายความร้อนลงได้ ทำให้บรรยากาศของความชุ่มชื่นกลับคืนมาอีกครั้ง และเป็นสัญญาณบอกกับเราว่าใกล้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายท่านอาจชอบความเย็นชุ่มฉ่ำจากน้ำฝน กลิ่นดินกลิ่นหญ้า ชวนให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ทุกอย่างย่อมมีทั้งดีและไม่ดีคู่กันเสมอ เพราะฝนก็อาจเป็นตัวการที่ทำให้เราไม่สบายได้เหมือนกัน ทั้งจากการตากฝนตรง ๆ จากการสัมผัสกับน้ำท่วมขัง หรือจากเชื้อไวรัสต่าง ๆ เช่น เป็นโรคหวัด โรคตาแดง โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก เป็นต้น วันนี้เราจึงมาแนะนำ 4 วิธีดูแลและป้องกันตัวเองอย่างง่าย ๆ ที่จะทำให้คุณผ่านหน้าฝนนี้ไปได้อย่างมีสุขภาพดีแข็งแรง

1. ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
          - โดยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น มะขามป้อม มะขามเทศ ฝรั่ง ลิ้นจี่ มะละกอสุก เงาะ ส้มโอ พริกหวาน มะรุม คะน้า กะหล่ำปลี อย่างไรก็ตาม พบว่า ถ้านำผักเหล่านี้มาปรุงผ่านความร้อนจะทำให้ปริมาณวิตามินลดลงได้ จึงอยากแนะนำให้รับประทานสด ๆ จะดีกว่า อาจนำมาทำเป็นเมนูน้ำปั่นก็จะสามารถรับวิตามินได้เต็มที่พร้อมรสชาติที่อร่อยอีกด้วย
          - การทานวิตามินซีที่เป็นอาหารเสริม เป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยทานผัก ผลไม้ โดยมีทั้งรูปแบบเม็ด แคปซูล หรือเม็ดฟู่ละลายน้ำ ถ้าทานครบปริมาณที่แพทย์แนะนำจะสามารถลดความรุนแรงของการเป็นหวัดลงได้ และยังทำให้หายเร็วขึ้นอีกด้วย
          - ในแต่ละวันควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง แล้วแต่บุคคล เพราะการนอนเป็นช่วงที่ร่างกายได้ฟื้นฟู และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพิ่มภูมิต้านทานในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้อย่างดี
          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ให้เหมาะสมกับช่วงวัย และทำต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพียงเท่านี้ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรง

2. หลีกเลี่ยงการตากฝนหรือลุยน้ำท่วมขังโดยไม่จำเป็น
          - ตอนฝนใกล้ตกสภาพอากาศจะชื้นขึ้น มีลมพัดแรง เป็นเหตุให้เชื้อโรคต่าง ๆ แพร่กระจายในอากาศมากขึ้น หากเราตากฝนแล้วละก็ มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อผ่านทางเดินหายใจส่วนต้นได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จะเป็นหวัดได้ง่ายกว่าคนปกติ ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นใด ๆ ควรอยู่ในบ้านหรืออาคาร รอจนกว่าฝนจะหยุดจึงค่อยออกมา รวมถึงการเดินลุยน้ำที่ท่วมขังที่ชะเอาสิ่งสกปรกรวมถึงอาจปนเปื้อนเชื้อโรค เช่นโรคฉี่หนูมาด้วย ฉะนั้น การหลีกเลี่ยงการตากฝนและการเดินลุยน้ำท่วมขังจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้
          - การปฏิบัติตัว หากตากฝนหรือลุยน้ำท่วมขัง เมื่อถึงบ้านควรรีบอาบน้ำ สระผม หลังจากนั้นเช็ดตัวและเป่าผมให้แห้งสนิท เพื่อกำจัดความชื้นออกไป อาจดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ หรือแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น เป็นการช่วยเพิ่มอุณหภูมิแก่ร่างกาย จะช่วยให้รู้สึกสบายตัวขึ้นด้วย

3. ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่นเมื่อเราป่วย
          - ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปที่มีคนพลุกพล่าน หรือที่มีคนป่วยมาก ๆ เช่น โรงพยาบาล รถโดยสารสาธารณะ
          -  ล้างมือบ่อย ๆ ก็จะลดโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้อย่างดี
          - ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า อุปกรณ์การรับประทานอาหาร และใช้ช้อนกลางเมื่อทานอาหารร่วมกัน
          - พยายามไม่ตากฝนซ้ำ ๆ ควรจะพกร่มหรือรองเท้าบูทลุยน้ำถ้าหลีกเลี่ยงการตากฝนหรือลุยน้ำขังไม่ได้
          - ดูแลรอบที่พักไม่ให้รก เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่ของสัตว์นำโรค เช่น หนู รวมถึงไม่ให้มีแหล่งน้ำขังที่จะทำให้ยุงเพาะพันธุ์ได้

4. การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่  
          - โรคไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว มีอาการคล้าย ๆ โรคไข้หวัดธรรมดา แต่จะรุนแรงกว่า เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่สูงกว่าไข้หวัดธรรมดา แพทย์จึงมักแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น
          -  เด็ก ที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จนถึง 5 ปี
          -  ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
          - หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่อยู่ในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอด
          -  ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง
          ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่จะลดต่ำลงได้ในระยะเวลาไม่นาน การฉีดวัคซีนปีละครั้ง เป็นการกระตุ้นร่างกายให้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่สูงขึ้น
          ข้อพึ่งระวังสำหรับผู้ที่แพ้ไข่ไก่ไม่สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับวัคซีน
          ฤดูฝนถึงจะเย็นฉ่ำแต่ก็แฝงไปด้วยอันตราย หากเราดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และป้องกันตัวเองจากโรคภัยที่มากับฤดูฝนได้  เราก็จะสามารถมีความสุขกับฤดูฝนนี้ได้ เราหวังว่า 4 วิธีที่กล่าวมานี้ จะทำให้สุขภาพแข็งแรงและมีความสุขอย่างเต็มที่ในฤดูฝน

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล :  www.brh.go.th › index.php