คนหนุ่มสาวที่ใช้กัญชาฤทธิ์แรงมีโอกาสมากกว่า 4 เท่าที่จะใช้บ่อยครั้งมากขึ้นและประสบปัญหาจากการใช้กัญชา
การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของกัญชาต่อปัญหาจิตเวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น (e.g., NEJM JW Psychiatry Jun 2020 and J Stud Alcohol Drugs 2020; 81:164) ในการศึกษาเป็นเวลานานกับกลุ่มคนที่เกิดเวลาใกล้เคียงกัน คณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างฤทธิ์ของกัญชากับสุขภาพจิตที่เกิดร่วมกันและการใช้สารเสพติดกับผู้ที่อาศัยในสหราชอาณาจักรจำนวน 1,087 คน อายุ 24 ปี ซึ่งแจ้งว่าได้ใช้กัญชาเมื่อปีที่แล้ว
ผู้เข้าร่วมการศึกษาร้อยละ 13 ให้ข้อมูลว่าใช้กัญชาที่มีฤทธิ์แรง (คือ มีความเข้มข้นของ tetrahydrocannabinol [THC] สูงกว่า) และร้อยละ 87 ใช้กัญชาที่มีฤทธิ์อ่อน
เมื่อปรับปัจจัยของอายุในตอนเริ่มใช้กัญชา จิตพยาธิวิทยาวัยรุ่น และปัจจัยทางสังคมประชากรแล้ว พบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาซึ่งตอบว่าใช้กัญชาที่มีฤทธิ์แรงมีโอกาสมากกว่า 4 เท่าที่จะใช้กัญชาบ่อยครั้งเมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้กัญชาที่มีฤทธิ์อ่อน และยอมรับว่ามีปัญหากับการใช้กัญชา
ผู้ใช้กัญชาที่มีฤทธิ์แรงมีความเป็นไปได้เกือบ 2 เท่าที่บอกว่าเป็นโรควิตกกังวล และยังมีความเป็นไปได้มากกว่าที่ให้ข้อมูลว่ามีการใช้ยาเสพติดผิดกฎหมายและเคยเป็นโรคจิต แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวลดน้อยลงและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติหลังจากปรับปัจจัยความถี่ของการใช้กัญชาแล้ว
แม้การใช้กัญชาบ่อยครั้งมากขึ้นมีผลต่อความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะประสบปัญหาทางจิตและการใช้สารเสพติดชนิดอื่นในผู้ใช้กัญชาที่มีฤทธิ์แรง แต่มีข้อสังเกตว่าผลการศึกษานี้เป็นการเปรียบเทียบกับผู้ใช้กัญชาที่มีฤทธิ์อ่อน ไม่ได้เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชา ยิ่งกว่านั้นผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ใช้กัญชาบ่อยครั้งกว่ามีโอกาสสูงกว่าที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว ผู้ป่วยจิตเวชควรได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงกัญชาที่มีฤทธิ์แรง หากไม่สามารถหยุดใช้ได้เด็ดขาด หน่วยงานกำกับควบคุมที่ได้ข้อมูลอาจมีแรงจูงใจที่จะจำกัดปริมาณของ THC ในผลิตภัณฑ์ที่เตรียมจากกัญชาภายใต้การบังคับของกฎหมาย
กัญชาฤทธิ์แรงก่อปัญหากว่าชนิดธรรมดาสำหรับคนอายุน้อย
JAMA Psychiatry 2020 May 27