รศ.ดร.พิชญดา เกตุเมฆ
ภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ถ้าทำงานวิจัยก็ต้องกัดไม่ปล่อยค่ะ ทำให้ต่อเนื่อง ถ้าเลือกจะทำผลงานนี้แล้วก็ต้องทำไปให้สุด มีความอดทน และการมีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยในด้านที่เกี่ยวข้องคือสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ”
เคยสงสัยกันไหมว่า นิ้วก้อยเท้า ส้นเท้า หัวเข่า หรือแม้กระทั่งหัวไหล่ของเรา มักมีแรงดึงดูดกับขอบโต๊ะ ขอบตู้ ขอบเตียง หรือแม้แต่ผนังมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน โดยมักจะทิ้งรอยเขียวช้ำเป็นอนุสรณ์ไว้ให้ระลึกถึงความไม่ระวังตัว เคยสงสัยกันต่อไปอีกหน่อยไหมว่า การที่เราเดินชนสิ่งของในบ้านอาจจะเป็นเพราะการจัดวางสิ่งของไม่เหมาะสม หรือเป็นสัญญาณของการมีปัญหาทางสายตา หรืออาจเป็นเพราะ ‘แสงสว่าง’ ภายในบ้านที่ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน ซึ่งหากมีสมาชิกในบ้านเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีสายตาเลือนราง ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เพราะผลเสียอาจจะไม่ใช่แค่รอยฟกช้ำตามร่างกาย
รศ.ดร.พิชญดา เกตุเมฆ และทีมวิจัย จากภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นปัญหาจากแสงสว่าง ปรับปรุงและพัฒนาผลงานวิจัยร่วมกับภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ และบริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำงานวิจัย “การพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเหลือการดำรงชีวิตด้านการมองเห็นสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีสายตาเลือนราง” สู่หลอดไฟ LED รุ่นแรกที่ช่วยให้ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีสายตาเลือนราง หรือแม้แต่ผู้ที่มีสายตาปกติสามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างพื้นที่ต่างระดับและวัตถุภายในบ้านได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ต้องปรับตัว และไม่ขัดต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
“ระบบแสงสว่าง LED จากการวิจัยนี้มีความยาวคลื่นที่ผ่านการทดสอบกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีสายตาเลือนรางแล้วว่า ช่วยเพิ่มความต่างระหว่างสีทำให้การมองเห็นชัดเจนและเคลื่อนไหวได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการล้มที่ไม่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างพื้นต่างระดับ วัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยหลอดไฟที่ได้รับการพัฒนาจะใช้คลื่นแสงที่มีความยาว 3 ช่วง ได้แก่ แดง เขียว และน้ำเงิน เมื่อผสมกันแล้วจะได้เป็น “แสงสีขาว” ที่ช่วยเพิ่มความต่างระหว่างสีได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังเพิ่มแสงสีขาวที่เพิ่มความสามารถในการขยายความแตกต่างของสีบางคู่ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์หลอดไฟผลิตออกมาทั้งหมด 3 ชุด ได้แก่ ชุด FR-L แสงไฟทั่วไป (General Lighting) ชุด BV-L และชุด CV-L แสงเฉพาะจุด (Task Lighting) ซึ่งได้ผ่านการทดสอบกับผู้มีสายตาเลือนรางจากงานวิจัยของนิสิตปริญญาเอก (ทุนจุฬาฯ ดุษฎีภิพรรธน์) ครั้งนี้เป็นส่วนที่ต่อยอดเพื่อนำไปผลิตและใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ขณะนี้พัฒนาเป็นหลอดชนิดยาวเสร็จสมบูรณ์และมีแผนผลิตหลอดชนิดกลมเพิ่มเติม ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2564 มีแผนนำไปทดสอบการใช้งานจริงในศูนย์ฟื้นฟูการมองเห็นของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์และในบ้านพักผู้มีสายตาเลือนรางตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกระบวนการขอจริยธรรมการวิจัยและเตรียมความพร้อม” รศ.ดร.พิชญดา กล่าว
พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการปี พ.ศ.2534 ให้นิยามผู้ที่มีสายตาเลือนราง (low vision) ว่าเป็นผู้ที่มีทัศนวิสัยในการมองเห็นเพียง 20 ฟุต ในขณะผู้ที่มีสายตาปกติสามารถมองเห็นได้ถึง 70 ฟุต (20/70) เนื่องจากการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้การเคลื่อนไหวช้าลง เพราะต้องแยกแยะพื้นผิววัตถุและความสูง-ต่ำของทางเดินอย่างระมัดระวัง การแยกแยะสี-ความต่างระหว่างสี-ความสว่าง (contrast) จึงเป็นการมองเห็นพื้นฐานที่ทำให้ผู้มีปัญหาด้านสายตาสามารถแยกแยะความแตกต่างได้ง่ายที่สุด รศ.ดร.พิชญดา จึงทำการวิจัยคู่สีและแอปพลิเคชันสำหรับนักออกแบบเพื่อนำไปใช้ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้านที่ตอบโจทย์กับสังคมสูงวัยและผู้ที่มีสายตาเลือนราง “อีกผลงานหนึ่งที่เราทำการวิจัย คือ แอปพลิเคชันสำหรับนักออกแบบ เป็นการจำลองการมองเห็นของผู้ที่มีสายตาเลือนราง เพื่อให้นักออกแบบสามารถเห็นมุมมอง จุดอับ และเลือกสีที่เหมาะสม ที่ทำให้เกิดความแตกต่างของวัตถุ โดยแอปพลิเคชันทำงานร่วมกับกล้องมือถือเพื่อถ่ายรูปมุมมองพื้นที่ที่ต้องการออกแบบ เลือกฟังก์ชัน รอการประมวลผล และจำลองภาพการมองเห็นของผู้สูงอายุในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับ Color palette ชุดเทียบคู่สี และเทรชโชลของค่าความสว่าง ค่าความอิ่มตัวและค่าความต่างสี* เป็นการจับคู่สีที่ทำให้เห็น Contrast อย่างชัดเจน โดยมีการบอกค่าสีและบอกเกณฑ์การเลือกคู่สี ซึ่งในอนาคตต้องการให้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายเพื่อความปลอดภัยของทุกคนด้วยค่ะ”
*Color palette ชุดเทียบคู่สี มีเทรชโชล ดังนี้
1. ค่าความสว่างของสี / ค่าการสะท้อนแสง (Light reflectance value (LRV) ตามมาตรฐาน British Standard 8493 มากกว่าหรือเท่ากับ 30
2. ค่าความอิ่มตัวสี (Chroma: ΔC*) มากกว่าหรือเท่ากับ 12 (จากการทดลอง)
3. ค่าความต่างสี (ΔE2000) มากกว่าหรือเท่ากับ 9.8 (จากการทดลอง)
ถึงแม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะสมบูรณ์เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ แต่การพัฒนายังไม่สิ้นสุด รศ.ดร.พิชญดา กล่าวถึงอนาคตการต่อยอดงานวิจัยว่า “มีนวัตกรรมอื่นที่อยู่ในโครงการนี้และตั้งใจทำต่อยอดอยู่ค่ะ อาจจะเป็นผลงานที่มีคนทำไปเยอะแล้ว นั่นก็คือ ‘Guide Light’ ส่องทางตอนลุกไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน ซึ่งเราจะผสมสีไฟและปรับการส่องสว่างใหม่ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับอย่างต่อเนื่องของผู้สูงอายุ ซึ่งยังต้องทำการทดลองต่อไปถึงประสิทธิภาพที่สามารถใช้ได้จริงตามที่คาดการณ์ไว้ค่ะ”
“ถ้าทำงานวิจัยก็ต้องกัดไม่ปล่อยค่ะ ทำให้ต่อเนื่อง ถ้าเลือกจะทำผลงานนี้แล้วก็ต้องทำไปให้สุด มีความอดทน และการมีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยในด้านที่เกี่ยวข้องคือสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ”
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.research.chula.ac.th/th/news/11949/