ประชากรจีนลดต่ำเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ไทยคนตายแซงคนเกิดต่อเนื่องปีที่ 2

  อัตราการเกิดจีนเหลือ 6.77 คนต่อประชากร 1,000 คน


ประชากรจีนหดต่ำลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ด้วยอัตราเกิดลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือ 6.77 คน ต่อประชากร 1,000 คน


          ผลการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2022 พบว่า ประชากรจีนหดต่ำเหลือ 1,411 ล้านคน ลดลง 850,000 คน จากปี 2021


         อัตราการเกิดของจีนลดต่ำลงมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว ส่งผลให้รัฐบาลจีนพยายามออกนโยบายส่งเสริมการมีบุตร เพื่อชะลอไม่ให้อัตราการเกิดลดต่ำลงไปมากกว่านี้


          แม้จะยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวมานาน 7 ปี แต่จีนในเวลานี้ได้ก้าวสู่จุดที่ทางการเรียกว่า “ยุคแห่งการเจริญเติบโตของประชากรติดลบ”


        ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เปิดเผยออกมาเมื่อวานนี้ (17 ม.ค.) ระบุว่า อัตราการเกิดในปี 2022 ลดลงจาก 7.52 คนต่อประชากร 1,000 คน ในปี 2021 


           เมื่อเทียบกันแล้ว สหรัฐฯ มีอัตราเกิด 11.06 คนต่อประชากร 1,000 คน ส่วนสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 10.08 คนต่อประชากร 1,000 คน


           ขณะที่อินเดียซึ่งคาดว่าจะมีประชากรแซงหน้าจีนในปีนี้  มีอัตราเกิดอยู่ที่ 16.42 คนต่อประชากร 1,000 คน


           จำนวนผู้เสียชีวิตในจีนยังแซงหน้าจำนวนคนเกิดเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นปีที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดนับแต่ปี 1976 โดยอัตราอยู่ที่ ผู้เสียชีวิต 7.37 คนต่อประชากร 1,000 คน เพิ่มจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 7.18 คน


           ก่อนหน้านี้ ข้อมูลของรัฐบาลชี้ว่า  จีนกำลังเผชิญกับวิกฤตทางประชากรศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้จำนวนแรงงานจีนหดตัวลง และเพิ่มภาระให้ระบบสาธารณสุข รวมถึงรัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

          ผลสำรวจสำมะโนประชากรจีนที่จัดทำทุก ๆ 10 ปี เมื่อปี 2021 แสดงให้เห็นว่า ประชากรจีนเติบโตด้วยอัตราช้าที่สุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่ประเทศเอเชียตะวันออกแห่งอื่น ๆ นั้น ขนาดประชากรกำลังหดตัวลงเช่นกัน อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้


         “โลกจะเป็นไปในทิศทางนี้ต่อไป และจะแย่ลงอีกหลังโควิด” หยือ ซู นักเศรษฐศาสตร์จากหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Economist Intelligence Unit) หรือ อีไอยู กล่าว โดยนางซู เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่คาดการณ์ว่า ประชากรจีนจะหดตัวลงมากกว่านี้อีกในปี 2023


          “อัตราการว่างงานในเยาวชน และผลคาดการณ์รายได้ที่ลดต่ำ จะทำให้คนจีนชะลอการแต่งงานและแผนการมีบุตรยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ยิ่งลดลง” เธอเสริม


           นางซูยังวิเคราะห์ว่า อัตราการเสียชีวิตในจีนในปี 2023 คาดว่าจะพุ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จากผลพวงการระบาดของโควิดที่ยังมีอยู่และเข้าขั้นวิกฤตในจีน หลังรัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์เมื่อปลายปี 2022


          พัฒนาการทางประชากรศาสตร์ของจีนในช่วงหลายปีมานี้ เป็นผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียว ที่เริ่มบังคับใช้ในปี 1979 ด้วยเป้าหมายชะลอการเติบโตของประชากร โดยครอบครัวที่ละเมิดนโยบายลูกคนเดียวจะถูกปรับ และเผชิญบทลงโทษรุนแรงอื่น ๆ


         

นโยบายลูกคนเดียวกระทบประชากรศาสตร์ของจีนอย่างมาก


          จีนเป็นประเทศที่นิยมมีลูกผู้ชายมากกว่าผู้หญิง นโยบายลูกคนเดียวจึงนำมาสู่การทำแท้งเพื่อเลือกเพศบุตร เพราะครอบครัวหนึ่งจะมีประชากรได้เพียงคนเดียว


       รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวในปี 2016 ทำให้คู่รักที่สมรสแล้วมีบุตรได้ 2 คน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังส่งเสริมการมีบุตร ด้วยการละเว้นภาษีและมอบหลักประกันสุขภาพสำหรับมารดาที่ดีขึ้น ด้วยเป้าหมายชะลออัตราการเจริญเติบโตของประชากรไม่ให้ลดต่ำลงไปกว่านี้


           แต่นโยบายส่งเสริมการมีบุตรเหล่านี้ กลับไม่สามารถเพิ่มอัตราการเกิดได้ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้เหตุผลว่า เป็นเพราะนโยบายที่ส่งเสริมการมีบุตรนั้นไม่ได้มาพร้อมกับมาตรการลดภาระการดูแลบุตรที่ดีเท่าที่ควร อาทิ ความช่วยเหลือมารดาที่ต้องทำงานพร้อมเลี้ยงบุตร รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้นสำหรับเด็ก


           เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศให้การเพิ่มอัตราเกิดในประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศ ระหว่างการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะจัดขึ้นทุก ๆ 5 ปี


         ผู้นำจีนระบุว่า รัฐบาลจะดำเนิน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติเชิงรุก” เพื่อรับมือกับประชากรที่สูงวัยขึ้นเรื่อย ๆ


         แต่ บุศราวรรณ ธีระวิชิตชัยนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยครอบครัวและประชากร มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มองว่า ยุทธศาสตร์เชิกรุกดังกล่าว จะใช้การออกนโยบายส่งเสริมการมีบุตรอย่างเดียวไม่ได้ แต่ควรส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในครัวเรือนและที่ทำงานด้วย เหมือนกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีอัตราการเกิดที่ปรับตัวดีขึ้น


         อย่างไรก็ดี พอล เฉิง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติของสิงคโปร์ วิเคราะห์ว่า จีนยังมี “จำนวนแรงงานอีกมหาศาล” และ “ระยะเวลาอีกมาก” เพื่อรับมือความท้าทายทางประชากรศาสตร์นี้


      “จีนยังไม่เข้าสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายในทันที” เขากล่าว


          ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า การเพิ่มอัตราการเกิดอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอจะขจัดปัญหาอัตราการเจริญเติบโตของประชากรที่ชะลอตัวลง


          “การเพิ่มอัตราเกิด ไม่ได้ช่วยเพิ่มผลิตภาพ หรือเพิ่มปริมาณการบริโภคในประเทศในระยะกลาง” สจ๊วต กีเทล-แบสเทน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง กล่าว


       “มาตรการที่จีนจะใช้เพื่อรับมือปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ จะเป็นตัวชี้วัดต่อไป”


นานาประเทศเสี่ยงประชากรลดด้วย


          ข้อมูลจากสหประชาชาติที่เผยแพร่ออกมาเมื่อกลางปี 2022 ชี้ว่า ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ในยุโรปและเอเชียมีแนวโน้มที่จะมีประชากรลดลงต่อเนื่องในอีกหลายสิบปีต่อจากนี้


          ญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีอัตราการเกิดที่ลดลงต่อเนื่อง โดยผู้หญิง 1 คน มีอัตราการมีบุตร 1.3 คน ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างปี 2011 ถึง 2021 ญี่ปุ่นสูญเสียประชากรไปมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว


          สำหรับจีนนั้น สหประชาชาติคาดการณ์ว่า จีนจะสูญเสียประชากรเกือบครึ่งภายในปี 2100 หรือลดจากประชากร 1.4 พันล้านคน เหลือ 771 ล้านคน


         กลับกัน ประชากรในทวีปแอฟริกากลับมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จาก 1.4 พันล้านคน เป็น 3.9 พันล้านคน ภายในปี 2100 นั่นหมายความว่า ประชากรโลก 38% จะอาศัยอยู่ในแอฟริกาภายในปี 2100 จาก 18% ในปัจจุบัน


ไทยเป็นอย่างไร


         ข้อมูลจำนวนราษฎรของประเทศไทยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2022 พบว่า มีประชากรสัญชาติไทยอยู่ในทะเบียน 66,080,812 คน โดยในปี 2022 มีประชากรเกิดใหม่ 502,107 คน และเสียชีวิต 595,965 คน หมายความว่า ไทยมีคนตายมากกว่าคนเกิด 93,858 คน แปลว่า ประชากรไทยติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว 

ประชากรไทยตายเยอะกว่าเกิดติดกัน 2 ปีแล้ว


         ศ.เกียรติคุณ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล นักประชากรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า ประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงแล้ว ยังไม่นับรวมการย้ายถิ่นเข้าจากนอกประเทศ


          แต่ช่องว่างระหว่างจำนวนเกิดและตายของประเทศไทยในปี 2022 ยิ่งกว้างขึ้น อัตราเกิดเท่ากับ 7.6 ต่อประชากร 1,000 คน และอัตราตายเท่ากับ 8.9 ต่อประชากร 1,000 คน ทำให้อัตราเพิ่มตามธรรมชาติในไทยติดลบ 0.1% เช่นเดียวกับประเทศเอเชียตะวันออกหลายประเทศมีอัตราเพิ่มตามธรรมชาติติดลบ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ทำให้ไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศที่มีอัตราเพิ่มประชากรติดลบแล้ว


           “ระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กเกิดในไทยได้ดิ่งลง ตั้งแต่ปี 2017 เด็กเกิดลดต่ำลงจนแตะหลัก 7 แสนคน อีกเพียง 4 ปีต่อมา ในปี 2021 จำนวนเด็กเกิดลดลงจนมาแตะที่หลัก 5 แสนคน เมื่อเทียบกับจำนวนเกิดในแต่ละปีเมื่อ 40-50 ปีก่อนแล้ว”


          “จำนวนเด็กเกิดได้ลดลงอย่างน่าใจหาย” เขากล่าว


        จำนวนคนตายในปี 2565 สูงขึ้นมากจนเกือบแตะหลัก 6 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากและมากกว่าคนเกิดทำให้ประชากรไทยติดลบเป็นปีที่ 2 เพราะโครงสร้างอายุของประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว


          คาดว่าปี 2566 จำนวนคนตายน่าจะถึงหลัก 6 แสนคน และถึงหลัก 7 แสนคน  ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เท่ากับว่าประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงแล้ว และปี 2023 ประชากรรุ่นเกิดล้าน หรือสึนามิประชากรในปี 1963 จะเข้าสู่วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นปีแรก มีคนเกือบล้านคนเข้าสู่วัยสูงอายุ


ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล https://www.bbc.com/thai/articles/c0wdxl1ywygo


ขอขอบคุณรูปประกอบ  : GETTY IMAGES