ปักหมุดชีวิต ลิขิตสุขภาพดี รับปี 2566 สร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับตนเอง

    “ชีวิต” คือ การเดินทาง เดินทางสู่เป้าหมายที่แต่ละคนได้กำหนดไว้ แล้วคุณล่ะ ได้ปักหมุดหมายปลายชีวิตไว้บ้างแล้วหรือยัง  โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน คุณเคยวาดภาพตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุหรือไม่ ว่าจะเป็นคนสุขภาพปกติดีตามวัย หรือจะป่วยนอนติดเตียง หรือเป็นภาระให้ลูกหลาน แต่คนส่วนมากมักจะวางเป้าหมายให้ชีวิตมีแต่ความมั่นคงทางการเงิน การงาน มากกว่าการวางเป้าหมาย หรือปักหมุดชีวิตด้านสุขภาพ


           ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า การวางเป้าหมายให้ตนเองมีสุขภาพดีในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เป็นความจำเป็นที่ทุกคนต้องทำ เพราะสุขภาพผู้สูงวัยจะดีหรือไม่ดีย่อมขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะตั้งแต่วัยทำงาน อาจสายเกินไปที่จะมาเริ่มดูแลสุขภาพเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป “มาเริ่มกันเลยวันนี้ เอาฤกษ์ดีปีใหม่ เพื่อมอบเป็นของขวัญอันล้ำค่าให้กับตนเอง” ดร.สง่ากล่าวและว่า ก่อนที่จะปักหมุดให้ตนเองมีสุขภาพดีรับปีใหม่ ต้องค้นหาแรงบันดาลใจให้พบก่อน หากจะถามว่า คุณเคยเห็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือคนรอบข้างถูกตัดขาเพราะเป็นเบาหวานหรือไม่ เคยเห็นคนเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ปากเบี้ยว หรือชาไปครึ่งซีก นอนติดเตียง หรือเดินไม่ได้ต้องนั่งวีลแชร์ ตลอดชีวิตหรือไม่ เคยเห็นคนเส้นเลือดในสมองแตกตายตั้งแต่อายุยังไม่มากหรือไม่ คุณเคยไปงานศพคนที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจนนับครั้งไม่ถ้วนใช่หรือเปล่า                  


           ถามตัวเองต่ออีกว่า เมื่อคุณเป็นผู้สูงอายุคุณต้องเป็นภาระให้ลูกหลานหรือไม่ และเงินทองที่คุณหาไว้ได้ในวันนี้ต้องเอาไปให้หมอใช่หรือไม่ ยิ่งคนที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี จะเอาเงินที่ไหนไปรักษาตนเอง และบั้นปลายชีวิตคุณอยากมีอายุยืนที่สุขภาพดีแบบพึ่งพาตนเองได้ใช่หรือไม่


         ดร.สง่ากล่าวว่า เราได้บทเรียนหลายอย่างจากโรคโควิด-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อยเราก็รู้ว่า คนที่ดูแลสุขภาพจนมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย คือ คนที่มีภูมิคุ้มกันสูง จะมีโอกาสติดโควิด-19 น้อยกว่าคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือแม้จะติดแต่อาการไม่รุนแรง ที่สำคัญโควิด-19 ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่โรคสุดท้าย ในช่วงชีวิตของคุณ คุณอาจจะต้องเผชิญกับโรคระบาดแปลก ๆ อีกมากมาย แล้วคุณมีความพร้อมที่จะรับมือกับมันไหวหรือไม่


        “ทั้งหมดเป็นคำถามที่คุณต้องตอบตัวเอง มันคือภาพแห่งกาลอนาคตที่น่าสะพรึงกลัว ที่คุณอาจต้องเผชิญ ซึ่งอาจจะมาก่อนอายุ 60 ปี ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าคุณไม่สนใจที่จะหาคำตอบให้ตนเอง คิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เกิดมาแล้วก็ต้องเจ็บต้องตายเป็นเรื่องธรรมดา ถึงเวลาก็ตายเอง นั่นแสดงว่า คุณยอมแพ้ที่จะปักหมุดชีวิต เพื่อลิขิตหรือกำหนดสุขภาพให้ตนเอง ปล่อยให้เป็นเรื่องชะตากรรมกำหนดชีวิต ถ้าคุณคิดเช่นนี้ ไม่มีประโยชน์อันใดที่คุณจะอ่านบทความนี้อีกต่อไป ขอแนะให้คุณหยุดอ่านตั้งแต่บรรทัดนี้จะได้ไม่เสียเวลา” ดร.สง่ากล่าว


       ที่ปรึกษากรมอนามัยกล่าวว่า เมื่อปักหมุดชีวิตได้แล้ว จงประเมินสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพของตนเองแบบซื่อสัตย์ ด้วยการถามตนเอง ในรอบ 365 วัน หรือในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ตัวเองป่วยเป็นโควิด-19 กี่ครั้ง ไปหาหมอ และกินยารักษาการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ บ่อยเพียงใด ใช้เงินและเสียเวลากับการเจ็บป่วยมากหรือไม่ ตรวจสุขภาพประจำปีบ้างหรือเปล่า อ้วนขึ้นหรือไม่  ได้ออกกำลังกายสัปดาห์ละกี่ครั้ง นอนหลับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ มีความเครียดกับชีวิตตลอดเวลาใช่หรือไม่  หลงใหลกับความสุขที่ได้จากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า อย่างนั้นหรือ กินอาหารตามใจปากตลอดเวลา กินหวาน มัน เค็มมากไป กินผัก ผลไม้น้อยมากใช่หรือไม่ “จงตอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ และยอมรับความจริง หมดเวลาที่จะหลอกตัวเองอีกต่อไป แล้วนำเอาพฤติกรรมสุขภาพที่ทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำมาวิเคราะห์หาเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่ได้ทำ” ดร.สง่ากล่าว


        ทั้งนี้ ดร.สง่าบอกว่า จากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ค้นพบว่า คนที่ไม่ใส่ใจสุขภาพ มักจะเป็นคนที่ไม่ให้ความสำคัญ หรือขาดความตระหนักเกี่ยวกับสุขภาพ ขาดการวางแผนชีวิต ไม่มีเป้าหมาย ยกข้ออ้างสารพัดโดยเฉพาะงานยุ่ง ไม่มีเวลา ทุ่มเทเวลาให้กับงานได้ แต่ไม่ใส่ใจที่จะแบ่งเวลามาดูแลสุขภาพ ประกอบกับการไม่สนใจที่จะฝักใฝ่หาความรู้การดูแลสุขภาพ ในที่สุด ก็เป็นความคุ้นชินจนเป็นนิสัย กลับกลายเป็นคนไร้หมุดหมายในชีวิต มีวิถีที่เลื่อนลอย หรืออยู่ไปวัน ๆ


          “เมื่อคุณค้นหาเหตุที่ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำพบแล้ว จงนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ ที่ท่านสอนไว้ว่า เมื่อความทุกข์เกิดจากเหตุ จงหาเหตุแห่งทุกข์ให้พบ แล้วใช้ปัญญาไปดับเหตุ ทุกข์นั้นจะมลายไป ด้วยการตั้งสติ แล้วจะเกิดปัญญาการหาทางออก เพื่อก้าวข้ามสิ่งที่เป็นเหตุที่ทำให้เราทำไม่ได้ โดยการนำหมุดหมายชีวิตและภาพแห่งอนาคตมาเป็นแรงบันดาลใจ ให้วางแผนบริหารจัดการวิถีชีวิตใหม่ เริ่มให้ได้ตั้งแต่ขึ้นปีใหม่ 2566 เหตุที่ไม่ได้ออกกำลังกาย เพราะไม่มีเวลา ยุ่งอยู่กับงาน ขี้เกียจ เริ่มจากการนำแรงบันดาลใจไปฝืนตนเอง ออกไปเดินวันละ 10-15 นาทีก่อน

        ขณะเดินอาจเบื่อและท้อแท้ จงย้อนกลับไปนึกถึงแรงบันดาลใจ ไม่อยากนอนติดเตียงตอนแก่ แล้วจะเกิดแรงฮึด เดินได้อย่างต่อเนื่อง แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะทางและเวลาเป็นครึ่งชั่วโมงได้ภายใน 1-2 เดือน แล้วกลายเป็นนิสัย เหตุที่กินไม่เลือก กินทุกอย่างที่ขวางหน้า กินเพื่อความอร่อย แต่ไม่คำนึงกินแล้วจะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน ความดัน และมะเร็งหรือไม่ เป็นเพราะคุณไม่ตระหนักรู้ภัยร้ายที่กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ความอร่อยและความอยากเลยเข้ามากลบ ต่อจากนี้ไป จงนำแรงบันดาลใจมาฝึกตนเองให้กินอาหารครบ 5 หมู่ กินหลายหลาก กินพออิ่ม กินข้าวกล้อง กินปลามากกว่าเนื้อสัตว์อื่น กินผัก ผลไม้เป็นประจำ กินน้ำตาล น้ำมัน และเกลือ ไม่เกินวันละ 6, 6 และ 1 ช้อนชา ตามลำดับ” ดร.สง่าแนะนำ

        นอกจากนี้ ยังต้องค้นหาเหตุที่ทำให้เครียด กังวล นอนหลับพักผ่อนไม่พอ และยังสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อยู่ว่าเป็นเพราะอะไร แล้วเอาแรงบันดาลใจมาใช้ความพยายามในการหาทางออก ซึ่งต้องให้เวลากับตนเอง แต่ถ้าเมื่อไรเริ่มจะหลุด จงย้อนกลับไปหาแรงบันดาลใจใหม่ แล้วจะกลับมาทำได้ จนกลับกลายเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ที่สามารถทำได้ในวิถีชีวิตตลอดไป


        “หมุดหมายปลายทางชีวิต มิได้ถูกลิขิตด้วยลม ฟ้า อากาศ แต่ตัวคุณเองต่างหากเป็นคนต้องลิขิตหรือกำหนดให้มันเป็นไปตามที่คุณวางเป้าหมายไว้ การลิขิตสุขภาพด้วยการปักหมุดชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีเมื่ออายุมากขึ้นนั้น คือ การบริหารจัดการวิถีชีวิตดี ๆ นี่เอง เมื่อคุณบริหารงานได้ คุณก็ต้องหันมาบริหารชีวิตตัวเองด้วย ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ คุณมัวสาละวนหาของขวัญปีใหม่ให้กับคนอื่นที่คุณรัก แต่คุณกลับลืมหาให้ตัวเอง ของขวัญที่มีคุณค่าหาซื้อไม่ได้ตามท้องตลาดที่จะมอบให้ตนเอง คือ การสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับตนเอง มาเริ่มปักหมุดชีวิต เพื่อลิขิตสุขภาพของตัวเองให้ดี เริ่มที่ปีใหม่กันได้เลย” ดร.สง่ากล่าวทิ้งท้าย


ขอขอบคุณที่มา :  มติชน