สิทธิตรวจยีนมะเร็งเต้านมผู้ป่วยเสี่ยงสูง

สปสช. แจงแนวทางให้บริการสิทธิประโยชน์ใหม่บัตรทอง 30 บาท “การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2” ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเส

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ “บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ กองทุนบัตรทอง 30 บาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 มอบให้กับคนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ โดยปีงบประมาณ 2566 สปสช. ดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อการตรวจคัดกรอง ค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่ได้รับบริการ คือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมตามเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง (ขณะนี้ให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทเท่านั้น ส่วนสิทธิอื่น ๆ เช่น ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ รอการประกาศอีกครั้ง) ได้แก่


 1.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุไม่เกิน 45 ปี


 2.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่อายุ 46-50 ปี ร่วมกับ มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งซ้ำหลายครั้ง หรือมีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตรของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม) อย่างน้อย 1 คน ที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก


 3.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้


           3.1 มีประวัติญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คน ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุไม่เกิน 50 ปี หรือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย หรือมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก


          3.2 มีประวัติผู้ป่วยในครอบครัวอย่างน้อย 3 คน ที่เป็นมะเร็งเต้านม


          3.3 มีประวัติในครอบครัวสายตรงอย่างน้อย 2 คน ที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก


 4.ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกช่วงอายุที่เป็นมะเร็งเต้านมแบบ triple negative หรือเป็นมะเร็งเต้านมในผู้ชาย


 ทั้งนี้ หากผลการตรวจคัดกรองยีนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง พบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านมชนิด BRCA1/BRCA2 แล้ว ญาติสายตรงซึ่งได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตร ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จะได้รับการติดตามให้มาตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมให้กับญาติสายตรงฯ ต่อไป


 “ในการรับบริการตามสิทธิประโยชน์นี้ แพทย์จะเป็นผู้ที่วินิจฉัยผู้ป่วยและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงเพื่อเข้ารับบริการตรวจ ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เข้าเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงตามหลักเกณฑ์ 4 ข้อข้างต้น แพทย์จะเป็นผู้ที่วินิจฉัยและประเมินเพื่อเข้ารับบริการตรวจตามสิทธิประโยชน์ หรือผู้ป่วยสามารถสอบถามจากแพทย์ที่รักษาท่านเพื่อให้วินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ โดยการวินิจฉัยและประเมินนี้เป็นไปตามแนวปฏิบัติ (Guideline) การตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและญาติสายตรงฯ ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว


  สำหรับหน่วยบริการแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) หน่วยที่ให้บริการเก็บตัวอย่าง จำนวน 69 แห่ง ทำหน้าที่ให้บริการประเมินความเสี่ยงทางพันธุกรรม บริการให้คำปรึกษาก่อนและหลังการส่งตรวจทางพันธุกรรม บริการเก็บตัวอย่างและจัดส่งตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ และมีศักยภาพให้บริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ 


 และ 2) หน่วยที่ให้บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 จำนวน 7 แห่ง มีทั้งหน่วยบริการภาครัฐหรือภาคเอกชน ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO15189 ในรายการทดสอบ BRCA1/2 หรือได้รับการรับรองมาตรฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


 ที่ผ่านมา สปสช. ได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายบริการสาขาโรคมะเร็งระดับเขต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดเครือข่ายระบบบริการ การขับเคลื่อนการตรวจคัดกรองฯ พร้อมจัดระบบการส่งต่อการตรวจไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการ


                                                

“สถานการณ์ประเทศไทย มะเร็งเต้านมถือเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับ 1 โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (2020) ระบุ พบความชุกของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมของหญิงไทยที่ 213.32 คนต่อ 100,000 คน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งผู้ที่มียีน BRCA1/BRCA2 มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 80 ดังนั้น สิทธิประโยชน์บริการนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยง ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว


 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 


1.สายด่วน สปสช. 1330


2.ช่องทางออนไลน์


• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6


• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand