ผักกาดหัว ผักกาดหัว ชื่อสามัญ Daikon, Daikon radish, Radish, White radish ผักกาดหัว ชื่อวิทยาศาสตร์ Raphanus sativus L., Raphanus sativus var. hortensis Backer, Raphanus sativus var. longipinnatus L.H. Bailey, Raphanus sativus var. niger (Mill.) J.Kern. จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)
ผักกาดหัว มีชื่อเรียกอื่นว่า ไช่เท้า ไช่โป๊ หัวไชเท้า หัวไช้เท้า หัวผักกาด หัวผักกาดขาว (ทั่วไป), ผักกาดจีน(ลำปาง), ผักขี้หูด ผักเปิ๊กหัว (ภาคเหนือ), ผักกาดหัว (ภาคกลาง) เป็นต้น
ผักกาดหัวมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีน โดยทั่วไปแล้วเจ้าหัวผักกาดนี้จะมีอยู่ด้วยกันหลายสี ไม่ว่าจะเป็นสีขาว สีแดง สีม่วง สีชมพู และขนาดก็จะแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์แยกย่อย (Subspecies)
ผักกาดหัวตามตำราจีนนั้นถือว่ามีฤทธิ์เป็นยาเย็น แต่มีรสเผ็ดร้อน ซึ่งถือว่าผักชนิดนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานของปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ช่วยดับกระหายคลายร้อน แก้อาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ซึ่งหากรับประทานผักกาดหัวไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะได้รับการบรรเทาให้ดีขึ้น เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาเย็น จึงไม่ควรที่จะรับประทานหัวผักกาดกับยาหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนอย่างโสมหรือตังกุย เพราะมันอาจจะไปสะเทินฤทธิ์กันเอง ทำให้โสมหรือตังกุยออกฤทธิ์ไม่ดีเท่าที่ควร แต่อย่าเข้าใจผิดไปว่าหัวผักกาดนี้มันจะไปทำลายฤทธิ์ของยาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ทั้งหมด และการรับประทานหัวผักกาดนั้นจะรับประทานสุกหรือดิบก็ได้ แต่การรับประทานแบบดิบ ๆ นั้นจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า
ประโยชน์ของผักกาดหัว
1.ผักกาดหัวเป็นผักที่หลาย ๆ ประเทศนิยมนำมาทำเป็นอาหาร เมนูหัวไชเท้า เช่น แกงจืด แกงส้ม ต้มจับฉ่าย ต้มจืดหัวไชเท้า ขนมหัวผักกาด สลัดหัวผักกาด ยำหัวผักกาด เป็นต้น
2.ประโยชน์ของหัวผักกาด สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทองเชื่อว่ามีส่วนช่วยทำให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง ดูมีน้ำมีนวลเหมือนคนหนุ่มสาว
3.เป็นผักสมุนไพรที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นหวัด มีอาการไอ คออักเสบเรื้อรัง และมีเสียงแหบแห้ง ด้วยการนำหัวไชเท้าสดมาล้างให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ไว้ในขวดแก้ว หลังจากนั้นโรยน้ำตาล 2-3 ช้อนโต๊ะ ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน แล้วรินน้ำดื่มเป็นประจำ
4.คั้นเป็นน้ำดื่มดับกระหาย ด้วยการนำหัวไชเท้าสดมาคั้นเอาน้ำแล้วเติมน้ำขิง น้ำตาลทรายขาวพอหวาน แล้วนำมาต้มให้เดือดแล้วจิบบ่อย ๆ
5.มีส่วนช่วยในการนอนหลับ
6.มีส่วนช่วยแก้โรคประสาท
7.ช่วยลดความดันโลหิต
8.หัวผักกาดมีสารลิกนิน (Lignin) ซึ่งจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากการเสื่อมของเซลล์ และมีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้
9.หัวไชเท้ามีสารเควอร์เซทิน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค และช่วยต่อต้านมะเร็ง
10.ช่วยระงับอาการหอบ (เมล็ด)
11.ช่วยในการเจริญอาหาร (ใบ, ทั้งต้น)
12.ช่วยลดอุณหภูมิความร้อนในร่างกาย
13.ช่วยขยายหลอดลมและหลอดเลือด
14.ช่วยบำรุงโลหิต (ราก)
15.ช่วยทำให้หายใจโล่งขึ้น
16.แก้อาการปวดศีรษะข้างเดียว (ราก)
17.สรรพคุณหัวไชเท้า ช่วยในการขับและละลายเสมหะ
18.แก้อาการไอหอบ มีเสมหะมาก (เมล็ด)
19.ช่วยเรียกน้ำลาย (ราก)
20.แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด (ราก)
21.ช่วยรักษาอาการต่อมน้ำนมบวม น้ำนมคั่ง (ใบ, ทั้งต้น)
22.ช่วยในการกระตุ้นน้ำย่อย ช่วยในการย่อยอาหาร
23.ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย (ใบ, ทั้งต้น)
24.ชาวจีนเชื่อว่าหัวผักกาดมีผลต่อการเคลื่อนตัวของพลังชี่ ซึ่งมีผลต่อกระเพาะอาหารและระบบย่อย
25.ใช้เป็นยาระบาย (เมล็ด)
26.ช่วยรักษาอาการท้องร่วง บิด
27.ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก
28.ช่วยชำระล้างผนังกระเพาะอาหารและลำไส้
29.ช่วยสมานลำไส้ (ราก)
30.มีส่วนช่วยให้ปัสสาวะใส ไม่ขุ่น
31.ช่วยบำรุงม้าม (ราก)
32.ประโยชน์ของหัวไชเท้า ช่วยส่งเสริมการทำงานของตับ จึงช่วยกำจัดพิษและของเสียในร่างกาย
33.แก้อาการผิวหนังเป็นผื่นคัน มีน้ำเหลือง ด้วยการใช้ใบสดนำมาคั้นเอาน้ำแล้วทาบริเวณที่เป็นผื่นคัน
34.ชาวจีนสมัยก่อนนำหัวผักกาดมาใช้รักษาโรคหัดในเด็ก
35.ในญี่ปุ่นมักนำหัวไชเท้าดิบมาขูดเป็นฝอยลงในซีอิ๊วใช้เป็นน้ำจิ้ม
36.มีการนำมาแปรรูปเป็นหัวไชโป๊ดองเค็ม ตากแห้งเพื่อรับประทาน
37.ในตำราอาหารญี่ปุ่นแนะนำว่า ให้ต้มปลาหมึกตัวสดกับหัวไชเท้า ว่ากันว่าจะช่วยทำให้เนื้อปลาหมึกนุ่มมาก
38.หัวไชเท้ารักษาฝ้า กระ ด้วยครีมหัวไชเท้า วิธีทําครีมหัวไชเท้า อย่างแรกให้นำหัวไชเท้ามาล้างให้สะอาด ปอกเปลือกแล้วหั่นบาง ๆ หลังจากนั้นนำไปปั่นพอละเอียดแล้วใส่น้ำมะนาว 1 ช้อนแกง แล้วปั่นในโถอีกครั้งเป็นอันเสร็จ วิธีพอกหน้าด้วยหัวไชเท้า ให้นำมาทาให้ทั่วผิวหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างออก หากทำเป็นประจำจะช่วยลดฝ้า กระให้จางลงได้
39.หัวไช้เท้าพอกหน้า การรักษาหน้าด้วยหัวไชเท้าอีกสูตร วิธีพอกหน้าด้วยหัวไชเท้า อย่างแรกให้นำหัวไชเท้ามาล้างให้สะอาดไม่ต้องปอกเปลือก แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงไปในโถปั่น แล้วใส่จมูกข้าวสาลีตามลงไป 1 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำผึ้งแท้ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วปั่นจนละเอียดเป็นอันเสร็จ แล้วนำมาพอกบริเวณใบหน้า หรือพอกตามตัวเป็นเวลาประมาณ 15 นาที แล้วจึงล้างออก ควรทำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง (สำหรับบางคนการใช้ในช่วงระยะแรกอาจจะมีอาการแสบแดงบ้างเล็กน้อย ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะเป็นเรื่องปกติ หากทำไปสักระยะก็จะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น)
ข้อมูลทางโภชนาการของหัวไชเท้าดิบต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 18 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 4.1 กรัม
- น้ำตาล 2.5 กรัม
- เส้นใย 1.6 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- โปรตีน 0.6 กรัม
- วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม 2%
- ตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 3 0.2 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 5 0.138 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 6 0.046 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี 9 28 ไมโครกรัม 7%
- วิตามินซี 22 มิลลิกรัม 27%
- ธาตุแคลเซียม 27 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมกนีเซียม 16 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุแมงกานีส 0.038 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุฟอสฟอรัส 23 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโพแทสเซียม 227 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุโซเดียม 21 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุสังกะสี 0.15 มิลลิกรัม 2%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย, ขวัญเรือนฉบับที่ 888, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 41
เรียบเรียงข้อมูลโดย : เว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com