ทำไมต้องแบบนี้

น.อ. หญิง ทิฆัมพร ไทยานันท์
ร.พ. ภูมิพลอดุลยเดช
พอ. บนอ.

สุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของเราทุกคน เมื่อเรามีปัญหาทางสุขภาพเราจะใช้ยารักษาโรค ถ้าปราศจากยา เชื่อแน่ว่าคุณภาพชีวิตของเราจะถดถอยลง กว่าที่เราจะได้ยามาใช้รักษาโรคแต่ละตัวไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องผ่านการวิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การคิดค้นสูตรเคมีที่มีการออกฤทธิ์ตามที่เราต้องการ โดยการทดลองในสัตว์ ทดลองหาความคงตัวทางเคมี ความคงตัวเมื่ออยู่ในร่างกาย และการผลิตยาให้อยู่ในรูปแบบที่ต้องการ ท่านผู้อ่านคงเคยตั้งคำถามในใจว่า ทำไมยาชนิดนี้จึงผลิตในรูปแคปซูล ไม่ผลิตเป็นยาเม็ด เราลองมาทำความเข้าใจถึงเหตุผลในการผลิตยารูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะขอกล่าวเฉพาะยาที่ใช้รับประทานเท่านั้น
รูปแบบยาที่เราใช้กันบ่อย ๆ คือ ยาผง ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาน้ำ


             ยาผง (powders) เป็นยารับประทานที่แบ่งขนาดรับประทานไว้แล้ว ตัวยามีการละลายตัวดี มีรสชาติดี การผลิตเป็นยาผงทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ บางครั้งทำเป็นรูปตัวหนอน หรือเกล็ดเล็ก ๆ เพื่อให้มีการละลายดีขึ้น

           ยาเม็ด (tablets) รับประทานง่าย แพทย์สามารถสั่งให้ใช้ได้สะดวก เพราะผลิตได้หลายขนาด เช่น แอสไพริน 75 มก., 300 มก. ผลิตได้ครั้งละมาก ๆ และรวดเร็ว มีต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้ยามีราคาถูก เก็บรักษาง่าย ไม่เปลืองที่เก็บ มีอายุการใช้งานนาน เพราะอยู่ในสภาพแห้ง การสลายตัวของยาน้อย ยาลดกรดบางชนิดต้องเคี้ยวก่อนกลืน เพราะปริมาณยา 1 เม็ด มีจำนวนมาก ต้องใช้แรงอัดยาสูงกว่าปกติ การเคี้ยวจะช่วยให้ยาแตกตัวดีขึ้น ยาบางชนิดมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น วิตามินจะใช้วิธีเคลือบน้ำตาล (sugar coated tablets) เพื่อกลบกลิ่น รส ทำให้รับประทานง่าย

          ยาแคปซูล (capsules) มี 2 ชนิด ชนิดแคปซูลนิ่ม ตัวยาเป็นน้ำมันไม่สามารถตอกเป็นเม็ด เช่น น้ำมันตับปลา วิตามินเอ ต้องมีเครื่องจักรพิเศษในการผลิต แคปซูลอีกชนิดหนึ่งเป็นแคปซูลชนิดแข็ง เป็นชนิดที่เราใช้ทั่วไป ตัวยาที่ผลิตจะสลายตัวง่ายเมื่อถูกความร้อนและความชื้น จึงไม่ผลิตเป็นยาเม็ด และยังกลบกลิ่น สี รส ที่ไม่พึงประสงค์ ผลิตได้ง่ายใช้เครื่องมือน้อย

              ยาน้ำ ใช้กับเด็กเป็นส่วนใหญ่ ยาน้ำเชื่อม (syrup) ตัวยาต้องละลายน้ำได้ดี การผสมน้ำเชื่อมเพื่อกลบรส กลิ่น ที่ไม่พึงประสงค์ ยาปฏิชีวนะบางตัว เมื่อถูกความชื้นจะสลายตัวง่าย จึงต้องทำเป็นผงแห้ง (dry syrup) และผสมน้ำก่อนใช้ ยาบางชนิดละลายน้ำยาก จึงใช้แอลกอฮอล์ช่วยละลาย ยาจะมีความหนืดน้อยกว่ายา syrup และมีรสขมของแอลกอฮอล์ปนด้วย (ยา elixir) ยาลดกรดจะทำในรูปยาแขวนตะกอน (suspension) เพราะตัวยาละลายน้ำได้ยากมาก เมื่อละลายแล้วจะมีลักษณะเหมือนแป้ง เมื่อต้องทิ้งไว้นานจะตกตะกอน บางครั้งต้องใช้ตัวยาช่วยให้มีการกระจายตัวของยาด้วย
              ได้กล่าวถึงเหตุผลในการผลิตยารูปแบบต่าง ๆ มาพอสมควร คิดว่าผู้อ่านคงนำมาใช้เป็นประโยชน์บ้าง ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังขาดบุคลากรทางการแพทย์อีกมาก ดังนั้น ประชาชนควรหาความรู้ทางสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ระดับหนึ่ง


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://web.ku.ac.th/saranaroo/chap4a.htm