ม.มหิดลชี้วิจัยเชื้อดื้อยาแบบสหสาขาวิชา เสริมความมั่นคงสาธารณสุขโลก

“เชื้อแบคทีเรียดื้อยา” ยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่คอยคุกคามความมั่นคงของโลกอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์โลก และเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญ
                  นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติรายงานว่า หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อดื้อยามากถึง 10 ล้านคนต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2593
                  ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการศึกษาอุบัติการณ์เชื้อดื้อยา เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network - RUN) คลัสเตอร์สุขภาพ ว่า ปัญหาการติดเชื้อดื้อยาถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสาธารณสุขของประเทศไทยและทั่วโลก เปรียบเสมือน "ภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำ" ที่แม้มองไม่เห็นชัดเจน แต่อาจเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงได้ หลายคนอาจไม่ตระหนักมากพอถึงภัยเงียบที่อาจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
                  ธรรมชาติของเชื้อแบคทีเรียมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการดื้อยาได้ การคิดค้นยาใหม่เพื่อรักษาโรคติดเชื้อดื้อยา จึงอาจไม่ทันการณ์หรือไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ดังนั้น ทิศทางการวิจัยโรคติดเชื้อดื้อยาที่ได้ประสิทธิภาพจึงควรเป็นความร่วมมือในลักษณะของ “สหสาขาวิชา” เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทุกมิติที่ควบคู่กันไป ทั้งการคิดค้นยาใหม่ และการป้องกันปัญหา โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการกลายพันธุ์ที่สำคัญ คือ การกินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น


 

                  โดย ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย อธิบายว่า เชื้อแบคทีเรีย 1 ตัว โดยปกติใช้เวลาแบ่งตัวรอบละ 20 - 30 นาที ซึ่งการกลายพันธุ์อาจเกิดขึ้นได้ในแต่ละรอบของการแบ่งตัว เชื้อแบคทีเรียจึงสามารถกลายพันธุ์ได้ง่าย การกินยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมอาจกระตุ้นให้กลายพันธุ์ได้เร็วขึ้น
                  เมื่อเรากินยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียได้สัมผัสกับยา ซึ่งบางส่วนอาจปรับตัวต่อสู้กับยาโดยการกลายพันธุ์ ดังนั้น หากกินยาอย่างต่อเนื่องระยะยาว หรือกินยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่ถูกต้อง ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสทำให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์ต่อสู้กับยา หรือ "ดื้อยา" ได้มากขึ้นเท่านั้น
                  นอกจากนี้ จากการสำรวจที่ผ่านมายังพบรายงานว่า กว่าครึ่งของประชากรที่มีสุขภาพแข็งแรง “เป็นพาหะของเชื้อดื้อยา” หมายถึง มีเชื้อดื้อยาอยู่ในร่างกายโดยที่ไม่ได้ก่อโรค แต่อาจแพร่เชื้อออกไปยังผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม หรือก่อให้เกิดการติดเชื้อในตนเองได้ต่อไป รวมไปถึงสัตว์ที่อาจติดเชื้อหรือเป็นพาหะได้เช่นกัน ดังนั้น ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงไม่ใช่เฉพาะเรื่องของผู้ป่วยเท่านั้น แต่สัมพันธ์กันระหว่างคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงของเชื้อดื้อยาระหว่างกันได้ ซึ่งเป็นที่มาของการวางระบบการบริหารจัดการแบบครบวงจรภายใต้ แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ "One Health" ที่เป็นนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน
                  ปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยา นับได้ว่าทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื้อดื้อยาบางชนิดอาจจะไม่มียาที่สามารถใช้รักษาได้แล้ว ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอัตราตายสูง หรืออาจเป็นผลแทรกซ้อนจากภาวะความเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมีอยู่เดิมได้อีกด้วย จึงนับเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนทุกคนควรเข้าใจและร่วมมือกันป้องกันปัญหาก่อนจะสายเกินไป โดยเฉพาะควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาปฏิชีวนะกินเองโดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม หรือควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนกินยาปฏิชีวนะทุกครั้ง