สมุนไพรป้องกันยุง ชนิดไหนได้ผลที่สุด? กันได้นานกี่ชั่วโมง?

ตื่นตัวเรื่องโรคไข้เลือดออก อยากได้สมุนไพรที่ไล่ยุงได้จริง ๆ และหาไม่ยาก มีความรู้จาก รศ.ดร. สุวรรณ ธีระวรพันธ์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า ยุงเป็นพาหะของการเกิดโรคที่สำคัญ ได้แก่ ยุงลาย เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ยุงก้นปล่อง เป็นพาหะนำไข้มาลาเรีย
                    ยุงรำคาญ นำโรคไข้สมองอักเสบ ยุงลายเสือและยุงอีกหลายชนิดเป็นพาหะโรคเท้าช้าง ที่ยังคงเป็นปัญหาของประเทศในเขตร้อน รวมทั้งประเทศไทยที่มีสภาพอากาศเหมาะแก่การแพร่กระจายพันธุ์ จึงต้องมีการควบคุมทั้งแหล่งกำเนิดและทำลายยุง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค การป้องกันไม่ให้ยุงกัดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน จึงมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่ยุง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารสังเคราะห์และเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมทั้งทำลายสิ่งแวดล้อม
                  สำหรับประเทศไทย เป็นแหล่งของพืชสมุนไพรหลายชนิดที่มีคุณสมบัติป้องกันและกำจัดแมลงได้ ปัจจุบันจึงมีการศึกษาและใช้สารจากธรรมชาติในการป้องกันยุงกัดมากขึ้น ได้แก่ สารสกัดจากสมุนไพรที่มีกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหย
                  ทั้งนี้ สารป้องกันยุงที่ได้จากธรรมชาติมีข้อดีกว่าสารเคมีสังเคราะห์ที่ไม่สะสมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นเวลานาน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของพืชและสัตว์ จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้
                  นอกจากนี้ มักมีความจำเพาะกับชนิดของยุงด้วย อย่างน้ำมันหอมระเหยจากพืชในสกุลตะไคร้ มีฤทธิ์ป้องกันยุงได้หลายชนิด ทั้งยุงก้นปล่อง ยุงลาย และยุงรำคาญ


             ตะไคร้หอม มีการศึกษาฤทธิ์ไล่ยุงของตำรับน้ำมันตะไคร้หอม ในรูปแบบของครีม พบว่า ตำรับที่มีน้ำมันตะไคร้หอม 17% ป้องกันยุงลายได้นานประมาณ 3 ชั่วโมง ครีมที่มีน้ำมันตะไคร้หอม 14% ลดจำนวนยุงรำคาญที่มาเกาะภายใน 1 ชั่วโมง หลังทาครีม
                    นอกจากนี้ สารสกัดเอทานอลของตะไคร้หอมผสมกับน้ำมันมะกอก สามารถไล่ยุงลายและยุงรำคาญได้นาน 2 ชั่วโมง ครีมที่มีน้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้หอมที่ความเข้มข้น 1.25, 2.5 และ 5.0% ป้องกันยุงก้นปล่องได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ขณะที่ความเข้มข้น 10% ให้ผลได้นานกว่า 4 ชั่วโมง

โหระพา
                  ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยจากพืช 5 ชนิด ได้แก่ แมงกะแซง โหระพา แมงลัก ยี่หร่า หรือโหระพาช้าง และกะเพรา พบว่ามีฤทธิ์ทั้งฆ่าลูกน้ำและไล่ยุงลายได้ เรียงลำดับ ดังนี้
                  โหระพา > ยี่หร่า> กะเพรา > แมงลัก = แมงกะแซง (ค่าเท่ากัน) โดยมีค่าความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยที่ให้ผลป้องกันยุงได้ 90% (EC90) เท่ากับ 113, 184, 240, 279 และ 283 ppm ตามลำดับ


         สำหรับฤทธิ์ไล่ยุงของน้ำมันหอมระเหยที่ความเข้มข้น 10% พบว่า โหระพาช้างมีฤทธิ์แรงที่สุด ป้องกันยุงกัดได้นาน 135 นาที

ยี่หร่า

       แมงลัก 


                รองลงมา คือ กะเพรา และแมงลัก ที่ป้องกันยุงกัดได้นาน 105 นาที และ 75 นาที ตามลำดับ


                ขณะที่แมงกะแซงและโหระพาให้ผลน้อยที่สุดเพียง 15 นาที ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ในรูปของแท่ง ทา ครีม และสเปรย์ ที่มีส่วนผสมของน้ำมันแมงลักและแมงกะแซงมีผลในการไล่ยุงลายและป้องกันยุงได้


             อีกกลุ่มพืช คือ กลุ่มสกุล มะกรูด น้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดมีฤทธิ์ป้องกันยุงได้นาน 95 นาที และตำรับยาทากันยุงที่มีน้ำมันมะกรูดความเข้มข้น 25 และ 50% สามารถไล่ยุงได้นาน 30 นาที และ  60 นาที ตามลำดับ


             ส่วน มะนาวฝรั่ง น้ำมันหอมระเหยจากมะนาวฝรั่งมีฤทธิ์ไล่ยุงก้นปล่องได้ 0.88 เท่า ของสารเคมีสังเคราะห์


             นอกจากสมุนไพรที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีการศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันยุง ได้แก่ ข่า ไพล ขึ้นฉ่าย ว่านน้ำ กานพลู หนอนตายหยาก ดอกกระดังงาไทย สารไพรีทรัม และไพรีทริน ที่พบได้ในพืชตระกูลดอกเบญจมาศ เป็นต้น


            จะเห็นว่า สมุนไพรที่มีศักยภาพในการไล่ยุงเป็นพืชที่พบและปลูกได้ทั่วไป เตรียมไว้ใช้เองในครัวเรือน หรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำมันหอมระเหยสมุนไพรนำมาผลิตเป็นครีมหรือโลชั่นป้องกันยุง สเปรย์ไล่ยุง หรือยาจุดกันยุงจากผงสมุนไพร


            จึงควรสนับสนุนและส่งเสริมในระดับอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของสมุนไพร ปลอดภัยต่อร่างกาย ลดอันตรายจากการใช้สารเคมี และช่วยลดการแพร่กระจายของโรคต่าง ๆ ที่มียุงเป็นพาหะนำโรค


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.technologychaoban.com/thai-local-wisdom/article_114769


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564