สมองมนุษย์หดตัวเมื่อเจอภาวะโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้โลกร้อนขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสรีรวิทยา, สุขภาพ และพฤติกรรมการดำรงชีวิตของมนุษยชาติอย่างคาดไม่ถึง
                     ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เชิงปัญญา (cognitive science) พบว่า ขนาดสมองโดยเฉลี่ยของคนเราจะปรับตัวลดลงทุกครั้งเมื่อเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ตลอดช่วงเวลา 10,000 ปีที่ผ่านมา
                    ดร. เจฟฟ์ มอร์แกน สตีเบล นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Brain, Behavior, and Evolution ฉบับล่าสุด โดยชี้ว่าสถานการณ์วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบัน ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงการตอบสนองและปรับตัวของมนุษย์ ทั้งในด้านกายภาพและสติปัญญา เพื่อดูว่ามนุษยชาติมีกลไกทางวิวัฒนาการที่รับมือต่อภาวะเครียดกดดันดังกล่าวอย่างไร
                    ดร. สตีเบลได้วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของขนาดสมองมนุษย์ โดยรวบรวมข้อมูลจากกะโหลกศีรษะของมนุษย์โบราณในสายตระกูลโฮโม (hominins) จำนวน 298 ตัวอย่าง ซึ่งทั้งหมดเคยมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลา 50,000 ปีที่ผ่านมา
                    จากนั้นผู้วิจัยได้นำข้อมูลข้างต้นไปเปรียบเทียบกับบันทึกความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งรวมถึงอุณหภูมิเฉลี่ย, ความชื้น และปริมาณน้ำฝนในยุคต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถทราบได้จากสารที่สะสมในแกนน้ำแข็งที่เจาะมาจากทวีปแอนตาร์กติกา

                    ผลปรากฏว่า ขนาดสมองโดยเฉลี่ยของมนุษย์สายพันธุ์ต่าง ๆ ในอดีต มีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงที่โลกมีอุณหภูมิหนาวเย็นลง และมีสภาพอากาศแห้ง ส่วนในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนโลกร้อนขึ้น ขนาดสมองของเผ่าพันธุ์มนุษย์จะหดเล็กลงอย่างมีนัยสำคัญสูงสุดถึง 10.7%
                    ผู้วิจัยพบแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา และในช่วงราว 100 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมปลายศตวรรษที่ 19 เหตุการณ์สำคัญนี้ส่งผลให้มนุษย์ปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมาก
                    แม้นักวิทยาศาสตร์จะทราบกันดีอยู่แล้วว่า สมองของเผ่าพันธุ์มนุษย์มีวิวัฒนาการจนขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดช่วง 2 ล้านปีที่ผ่านมา แต่การค้นพบของ ดร. สตีเบลในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มย่อยที่เกิดขึ้นในวิวัฒนาการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุคน้ำแข็งใหญ่ครั้งล่าสุด (Last Glacial Maximum) ที่ทำให้โลกหนาวเย็นลง และช่วงเริ่มต้นสมัยโฮโลซีน (Holocene epoch) ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเริ่มสูงขึ้น
                   “กว่าที่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของขนาดสมองมนุษย์อย่างชัดเจน ต้องใช้เวลานานหลายพันปีในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่เราก็พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า วิวัฒนาการและการคัดเลือกโดยธรรมชาติสามารถจะเริ่มเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่ชั่วรุ่นเท่านั้น ทำให้ขนาดของสมองมนุษย์เปลี่ยนไป โดยอาจมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เข้ามาส่งผลในเรื่องนี้ด้วย” ดร.สตีเบลกล่าวสรุป


 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/articles/cpez558109po