"แอสปาร์แตม" คืออะไร? WHO เตรียมประกาศเป็นสารก่อมะเร็ง

"ทำความรู้จัก "แอสปาร์แตม" สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คืออะไร?  ล่าสุด WHO เตรียมประกาศเป็นสารก่อมะเร็ง"

หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมขึ้นบัญชีสารแทนความหวาน หรือ "แอสปาร์แตม" เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งสารนี้สามารถพบได้อย่างแพร่หลายในเครื่องดื่ม และอาหารต่าง ๆ เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไร วันนี้จะพาไปรู้จักกับ แอสปาร์แตม กัน


แอสปาร์แตม หรือ Aspartame คืออะไร


        เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล (จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่ง) ซึ่งไม่ให้พลังงาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aspartyl-phenylalanine-1-methyl ester ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือกรดอะมิโน 2 ตัวต่อกัน ได้แก่ กรดแอสปาร์ติก และ ฟีนิลอะลานีน


      แอสปาร์แตมมีความหวานกว่าน้ำตาลซูโครส (น้ำตาลทราย) ประมาณ 180–200 เท่า ในปัจจุบันผลิตออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในยี่ห้อสินค้าต่าง ๆ แอสปาร์แตมเป็นส่วนประกอบในอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มกว่า 5,000 ชนิด ที่วางขายทั่วโลก โดยทั่วไปเราจะใช้แอสปาร์แตมผสมเครื่องดื่ม หรือทำอาหารให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน


      สำหรับในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอสปาร์แตมเป็นส่วนประกอบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้มีคำเตือนบนฉลากของบรรจุภัณฑ์ว่า "ผู้ที่มีสภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย ผลิตภัณฑ์นี้มีฟีนิลอะลานีน" ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งไม่สามารถย่อยฟีนิลอะลานีนได้ (ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้ราว 1 คนต่อประชากร 100,000 คน)


      โครงสร้างสารของแอสปาร์แตมจะเปลี่ยนไปเมื่อโดนความร้อนและเมื่อเก็บไว้นาน จึงไม่ควรใช้แอสปาร์แตมปรุงอาหารร้อน ๆ และไม่ควรเก็บไว้นาน ๆ


ปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน


       สำหรับเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคแอสปาร์แตมนั้น มันเป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ได้รับการทดสอบอย่างเข้มข้นมากที่สุดแล้วตัวหนึ่ง และได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยในการบริโภคของมนุษย์จากองค์กรด้านอาหารและยาทั่วโลกกว่า 100 แห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ รวมถึงประเทศไทย


       คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารโลกและองค์การอนามัยโลก (The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives (JECFA)) รวมทั้งคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของคณะกรรมาธิการยุโรป (the European Commission's Scientific Committee on Food) ได้กำหนดให้ระดับของการบริโภคแอสปาร์แตมต่อวันไว้ที่ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม  ขณะที่ อย. ของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นั้นคือ ถ้าคนที่น้ำหนักตัว 75 กิโลกรัม ดื่มน้ำอัดลมไดเอ็ตขนาด 355 มิลลิลิตร ที่ใส่แอสปาร์แตมไป 0.18 กรัม ก็จะดื่มได้ถึง 21 กระป๋องต่อวัน


ผลต่อน้ำหนักตัว


      มีรายงานตีพิมพ์ในปี 2017 ในวารสาร Canadian Medical Association Journal (CMAJ) ที่รีวิวทบทวนงานวิจัยทางการแพทย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้แอสปาร์แตมบริโภคแทนน้ำตาลทราย สรุปว่า แอสปาร์แตมสามารถลดปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับ และลดน้ำหนักตัวของทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้ (สนใจรายละเอียด อ่านได้ที่ https://www.cmaj.ca/content/189/28/E929)


ผลต่อระดับสารในร่างกาย


        มีรายงานในปี 2018 ในวารสาร Critical Reviews in Food Science and Nutrition ที่รีวิวงานวิจัยถึงผลกระทบทางเมตาบอลิซึมจากการบริโภคแอสปาร์แตม ก็ยืนยันว่า มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลิน คอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ ปริมาณแคลอรีที่่ร่างกายได้รับ หรือน้ำหนักตัว แถมยังช่วยเพิ่มระดับของ HDL (high-density lipoprotein หรือคอเลสเตอรอลตัวที่ดีต่อร่างกาย) อีกด้วย

ความหวานมีประโยชน์หรือโทษขึ้นอยู่กับปริมาณ


         กรมอนามัยเผยว่า ทั้งน้ำตาลธรรมชาติและน้ำตาลเทียมควรกินในปริมาณที่เหมาะสม หากกินในปริมาณที่มากเกินไปก็จะส่งผลกระทบกับร่างกายได้ การกินน้ำตาลธรรมชาติมากเกินไป จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะน้ำหนักเกิน สี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น หรือหากเรากินน้ำตาลเทียมเป็นประจำ ลิ้นจะคุ้นกับรสหวานที่มากเกินไป อาจจะทำให้ติดรสหวาน และไม่สามารถควบคุมอาหารการกินได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก และเด็ก


        ซึ่งเด็กต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะกินอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำต่อน้ำหนักตัว โดย American Diabetes Association (ADA) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารให้ความหวาน คือ ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรใช้ได้ในปริมาณที่น้อยที่สุด หรือจำกัดการใช้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า แม้สารให้ความหวานจะมีแคลอรีต่ำ แต่ส่งผลให้เราน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เพราะกระตุ้นให้เกิดการผลิตเซลล์ไขมันมากขึ้นอีกด้วย


       ดังนั้น หากร่างกายต้องการความหวาน ควรกินน้ำตาลแต่พอดี คือ ไม่ควรกินเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายได้รับต่อวัน โดยเด็กไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 4 ช้อนชา และสำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา และควรจำกัดการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่าง แอสปาร์แทม ซูคราโลส อะเซซัลเฟมเค และแซลคาริน เลือกกินน้ำตาลจากธรรมชาติหรือน้ำตาลจากผลไม้สด เพราะมีประโยชน์และให้คุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย อุดมไปด้วย วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และไฟโตนิวเทรียนท์


        แต่ถึงแม้ว่าน้ำตาลในผลไม้จะมีคุณค่าต่อร่างกาย แต่ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดมากเกินไป ควรเลือกผลไม้หวานน้อย เช่น กล้วย แอปเปิล ส้ม ฝรั่ง สาลี่ แตงโม สตรอว์เบอร์รี และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดี


 

ที่มา :  อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ / wikipedia / กรมอนามัย


ภาพจาก : รอยเตอร์