“ทุกการสูบคือยาพิษ” แคนาดาเป็นประเทศแรกที่จะพิมพ์คำเตือนบนบุหรี่ ‘ทุกมวน’ ไม่ใช่แค่บนซอง

“บุหรี่ก่อมะเร็ง” “บุหรี่ทำให้เสื่อมสมรรถนะทางเพศ” “ทุกการสูบคือยาพิษ”

นี่คือข้อความบางส่วนที่จะปรากฏบนผลิตภัณฑ์บุหรี่ ‘ทุกมวน’ ไม่ใช่แค่บนซอง ในประเทศแคนาดา ตามระเบียบข้อบังคับชุดใหม่ที่รัฐบาลแคนาดาสั่งให้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดการสูบบุหรี่ให้เหลือน้อยกว่า 5% ภายในปี 2035


         นี่จะทำให้แคนาดากลายเป็นประเทศแรกของโลกที่บังคับให้มีการพิมพ์คำเตือนบนบุหรี่ทุกมวนด้วย


        ข้อบังคับที่ว่านี้ มีชื่อว่า ‘ระเบียบว่าด้วยลักษณะ แพคเกจจิ้ง และฉลากของผลิตภัณฑ์บุหรี่’ (Tobacco Products Appearance, Packaging and Labelling Regulations) ซึ่งรัฐบาลแคนาดาระบุว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “ความพยายามต่อเนื่องในการทำให้ผู้ใหญ่เลิกบุหรี่ ปกป้องเยาวชนและผู้ที่ไม่สูบบุหรี่จากการเสพติดนิโคติน และลดความน่าดึงดูดของบุหรี่ลง”


       แม้จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2023 แต่แผนที่แคนาดาวางไว้ก็คือ จะค่อย ๆ บังคับใช้ทีละขั้นตอนเป็นระยะ ๆ โดยจะเริ่มจากบุหรี่ขนาดใหญ่ (king size) ซึ่งจะวางแผงในรูปแบบที่มีคำเตือนทุกมวนภายในเดือนกรกฎาคม 2024 ตามด้วยบุหรี่ขนาดปกติ และซิการ์ขนาดเล็ก และผลิตภัณฑ์บุหรี่อื่น ๆ ภายในเดือนเมษายน 2025


      ด้าน แคโรลีน เบ็นเน็ตต์ (Carolyn Bennett) รัฐมนตรีด้านสุขภาพจิตและการเสพติดของแคนาดา แถลงว่า “การสูบบุหรี่ยังคงคร่าชีวิตชาวแคนาดา 48,000 คนต่อปี เราลงมือทำด้วยการเป็นประเทศแรกของโลกที่ติดฉลากบุหรี่ทุกมวนด้วยข้อความเตือนด้านสุขภาพ


      “ก้าวสำคัญครั้งนี้จะทำให้แทบจะหลีกเลี่ยงคำเตือนด้านสุขภาพไม่ได้เลย และประกอบกับภาพคำเตือนที่อัพเดตใหม่บนแพคเกจ ก็จะเป็นเครื่องเตือนใจที่จริงจังและน่าตกใจถึงผลกระทบทางสุขภาพของการสูบบุหรี่ เราจะเดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อช่วยให้ประชาชนในแคนาดาหยุดสูบบุหรี่ และช่วยเยาวชนให้ได้ใช้ชีวิตที่มีสุขภาพปราศจากบุหรี่”


      การประกาศใช้ครั้งนี้ถือว่าได้รับคำชมจากสมาคมด้านสุขภาพต่าง ๆ ในแคนาดา เช่น สมาคมมะเร็งแคนาดา (Canadian Cancer Society) มูลนิธิหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองแคนาดา (Canada’s Heart and Stroke Foundation) และสมาคมปอดแคนาดา (Canadian Lung Association) ซึ่งมีความหวังว่ามันจะช่วยป้องกันไม่ให้คนไม่สูบบุหรี่ได้มากขึ้น


การทำแบบนี้จะทำให้คนอยากสูบบุหรี่น้อยลงได้จริงหรือ?


       เจฟฟรีย์ ฟง (Geoffrey Fong) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู และหัวหน้านักวิจัยหลักของโครงการประเมินนโยบายควบคุมบุหรี่ระหว่างประเทศ (International Tobacco Control Policy Evaluation) ชี้ว่า มันอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนที่อยากเลิกบุหรี่อยู่แล้ว ตัดสินใจเลิกได้


        “ไม่ได้หมายความว่า คนทุกคนที่เห็นคำเตือนจะหยุดสูบบุหรี่ทันที” ฟงอธิบาย “แต่มันมีคนจำนวนมากที่สูบ ซึ่งส่วนใหญ่กำลังคิดอยากเลิกบุหรี่ และดังนั้น พวกเขาจึงอยู่ในสถานการณ์ที่มีฟางเส้นสุดท้ายแบบนี้ในการตัดสินใจว่า จะหยุดสูบบุหรี่ดีหรือยัง”


อ้างอิงจาก   : canada.ca ,  bbc.com,   cbc.ca


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://thematter.co/brief/205067/205067