(GETTY IMAGES) ต้นไม้ในบ้านดูสวยงาม แต่ช่วยฟอกอากาศแค่ไหน
คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่ามีสารก่อมลพิษมากมายกระจัดกระจายอยู่ภายในบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้คนใช้เวลาอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดหรือผลิตภัณฑ์ปรับอากาศที่ใช้ตามบ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน ต่างล้วนเพิ่มสารพิษให้กับอากาศ
"กลิ่นความสดชื่นนั้นไม่ใช่กลิ่น" แอนน์ ฮิกส์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดที่มหาวิทยาลัยแอลเบอร์ตา ระบุ
"ถ้าคุณได้กลิ่นมัน มันเป็นสารเคมีที่อยู่ในอากาศที่เข้าสู่จมูก กลิ่นพวกนี้คือ มลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหอมหรือเหม็นก็ตาม" เธอระบุ
"มลพิษทางอากาศในอาคารเป็นเรื่องใหญ่มาก และความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีไม่มากนัก เพราะแม้กระทั่งมลพิษในบ้านของเพื่อนบ้านใกล้เคียงยังเป็นสารพิษคนละตัวกับบ้านของฉัน" ดร.ฮิกส์ กล่าว
มลพิษทางอากาศภายในอาคารมีความซับซ้อนมากและอยู่เหนือการควบคุม เช่น การจราจรทางถนนที่ผลิตสารไนโตรเจนไดออกไซด์ ขณะที่ความชื้นเมื่อเจอกับโครงสร้างของตึกอาคารที่มีปัญหาเรื่องความชื้น ก็อาจทำให้เกิดการขึ้นราได้
เครื่องฟอกอากาศที่มีระบบการกรองอนุภาคที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าแบบปกติ (High efficiency particulate air-HEPA) สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ แต่ต้นทุนในการซื้อเครื่องฟอกและค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย อาจเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับครัวเรือนบางครอบครัว
(GETTY IMAGES)
นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การปลูกต้นไม้กระถางกลายเป็นทางเลือกที่น่าดึงดูด จากเหตุผลเรื่องราคาและการทำความสะอาดอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการของใบไม้ที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษอื่น ๆ จากอากาศ และนำไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของพืชเองหรือย่อยสลายสารพิษ
ความสำคัญของกระบวนนี้ คือการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มจุลินทรีย์และสารอาหารในแหล่งปลูกไม่ว่าจะเป็นดินหรือปุ๋ย ซึ่งมีการศึกษาทางวิชาการหลายชิ้นบ่งชี้ว่า มีส่วนในการดูดซับมลพิษมากกว่าตัวพืชหรือต้นไม้เสียอีก
หนึ่งในงานศึกษาที่มีอิทธิพลคือ งานศึกษาขององค์การนาซา (NASA) เมื่อปี 1989 ที่ค้นพบว่าต้นไม้ที่ปลูกในร่มอาจมีส่วนช่วยขจัดสารฟอร์มาลินและสารอินทรีย์ระเหยง่ายอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของคาร์บอน (VOCs) ออกจากอากาศได้
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้อาจใช้ไม่ได้กับความเป็นจริง
ประเด็นสำคัญก็คือ ต้นไม้ที่ปลูกในร่ม มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดสารประกอบที่ส่วนผสมของคาร์บอนหรือสารเคมีต่าง ๆ (VOCs) ภายในบ้านที่มีคนอยู่อาศัย
"ดังนั้น การจะขจัดสารเคมีหรือแก๊สอื่น ๆ ให้ได้ผล คุณจำเป็นต้องมีต้นไม้จำนวนมากพอ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงที่เหมาะสมด้วย" ติยานา บลานุส ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปลูกพืชสวนในเรือนกระจกแห่งสมาคมพืชสวนเรือนกระจก และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเรดดิง ระบุ
เช่นเดียวกับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นักวิชาการรายนี้ระบุว่า จำเป็นต้องมีต้นไม้จำนวนมากที่เหมาะสมกับขนาดของห้องจึงจะวัดผลของการช่วยขจัดสารพิษได้จริง
ดังนั้น หมายความว่า การเพิ่มปริมาณต้นไม้ที่ปลูกจะเป็นคำตอบของเรื่องนี้หรือไม่ ?
กำแพงต้นไม้
นักวิจัยบางคน รวมทั้งบลานุส ได้เปลี่ยนไปสู่แนวทางศึกษาใหม่ จากเดิมที่ศึกษาต้นไม้ที่ปลูกในกระถาง เป็นการศึกษาต้นไม้ที่ถูกปลูกบนพื้นที่ผนังกำแพง ซึ่งปลูกต้นไม้ได้จำนวนมากกว่า และยังกรองอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า จากลักษณะการไหลเวียนของอากาศที่ผ่านกำแพงต้นไม้เข้าไป
เธออธิบายถึงเรื่อง กำแพงต้นไม้ ว่า "อากาศในห้องจะถูกผลักดันให้เข้าสู่ระบบรากของพืชอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากกลไกตามธรรมชาติอย่างที่เกิดขึ้นกับต้นไม้กระถาง"
อย่างไรก็ตาม กำแพงต้นไม้ มีต้นทุนการปลูกสร้างที่สูงมากรวมถึงค่าบำรุงรักษา ดังนั้น การทดลองจึงถูกมุ่งเน้นไปที่ตัวพืชโดยเฉพาะ
เมื่อปี 2015 บริษัทที่ปรึกษาก่อสร้างเจ้าหนึ่งที่ชื่อว่า คันดอลล์ ได้สร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ในลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยมีการนำต้นไม้เข้าไปจัดวางไว้ในห้องประชุมห้องหนึ่งที่สร้างใหม่ที่ชื่อว่า "กรีนแล็บ" พวกเขาทำเช่นนี้เพื่อติดตามและบันทึกว่า ต้นไม้หรือพืช มีผลต่อคุณภาพอากาศภายในอาคารหรือไม่ แต่การทดลองนี้ก็มีความท้าทายอย่างยิ่งในการดูแลรักษา
ผลของมันชัดเจนอย่างยิ่งว่า การปลูกต้นไม้ในร่ม ไม่ได้มีผลต่อคุณภาพอากาศเหมือนกันทุกที่ เพราะขึ้นอยู่กับกลไกการระบายอากาศและระบบฟอกอากาศในสถานที่นั้น ๆ
ดังนั้น แม้ว่าห้อง ๆ หนึ่งจะมีต้นไม้ใหญ่อยู่หนึ่งต้นที่มุมห้อง มีโหลสี่เหลี่ยมใส่ต้นมอสเรนเดียร์แขวนที่กำแพง หรือมีแผงมอสสีเขียวที่น่ารัก น่าสัมผัส แต่พืชเหล่านี้ไม่ได้มีความสามารถในการดูดซับมลพิษแต่อย่างใด
สำหรับบริษัทที่ปรึกษาก่อสร้าง คันดอลล์ เมื่อมีลูกค้าถามถึงต้นไม้ที่ช่วยปรับคุณภาพอากาศ กวิตา กุมารี รองผู้อำนวยการสำนักงานคันดอลล์ กรุงลอนดอน จะให้คำแนะนำว่า ต้นไม้มีทั้งประโยชน์และข้อจำกัด
เธอแนะนำต้นไม้ที่ไม่ต้องการการดูแลรักษามากนัก แต่ขณะเดียวกันก็สามารถขจัดสารประกอบคาร์บอนและผลิตออกซิเจนได้ด้วย แม้ว่ามันจะไม่มีผลมากนักก็ตาม
เธอยกตัวอย่างต้นไม้ที่มีคุณสมบัตินี้ ได้แก่ ต้นลิ้นมังกร หรือต้นดาบพระอินทร์ พืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีหลากสายพันธุ์ มีลักษณะเรียวยาวคล้ายหอก และช่วยฟอกอากาศได้ ซึ่งสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยออกซิเจนในอากาศได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งต้นไม้ชนิดอื่นมีกลไกแบบนี้เฉพาะเพียงตอนกลางวันเท่านั้น
เธอแนะนำด้วยการเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศที่สะสมมลพิษออกไป ไม่ได้ผลนักสำหรับอาคารสูง เพราะการเปิดหน้าต่างยิ่งจะทำให้มลพิษภายนอกเข้ามาได้เช่นกัน
การวิจัยใหม่ตัดต่อพันธุกรรมให้พืชฟอกอากาศได้
นักวิทยาศาสตร์กำลังวิจัยพืชรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการทำให้อากาศบริสุทธิ์ด้วยการตัดต่อทางวิศวกรรมชีวเวช (Bioengineer)
คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ดัดแปลงพันธุกรรมของพลูด่างด้วยการสังเคราะห์โปรตีน "ตับสีเขียว" ที่อยู่ในกระต่าย เพื่อให้สามารถผลิตคลอโรฟอร์ม (สารในยาสลบ) และสารเบนซีน
บริษัทที่ชื่อว่า "นีโอแพลนท์ส" เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่กำลังดัดแปลงพันธุกรรมจากพลูด่างให้สามารถรีไซเคิลสารอินทรีย์ระเหยได้ (สารเคมี) รวมทั้งดัดแปลงให้สามารถผลิตแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการสลายสารเคมีด้วยการนำสารเข้าสู่ระบบรากโดยตรง ทั้งนี้ กระบวนการของพืชที่ทำให้อากาศสะอาด เป็นการทำงานของจุลินทรีย์ไมโครไบโอม (Microbiome) มากกว่าตัวพืชโดยตัวของมันเอง
อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับปรุงผลลัพธ์จนดีขึ้นกว่าผลการศึกษาขององค์การนาซาถึง 30 เท่า ตามที่บริษัทนีโอแพลนท์สอ้าง ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะพึ่งพาพืชเพียงอย่างเดียวในการฟอกอากาศ
ดังนั้น สรุปได้ว่า จากข้อมูลในปัจจุบัน ประโยชน์ในการฟอกอากาศของพืชในร่ม "มีจำกัด" พืชเหล่านี้ไม่สามารถ “เอาชนะ” การทำงานของเครื่องฟอกอากาศได้
แต่อย่างไรก็ตาม พืชมีประโยชน์ที่ชัดเจนต่อเรื่องอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และผลิตภาพของมนุษย์
ด้าน รองผู้อำนวยการสำนักงานคันดอลล์ กรุงลอนดอน แนะนำลูกค้าว่า หากใช้มาตรฐานการก่อสร้างอาคารเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาพ หนึ่งในเป้าหมาย คือ ต้องมีพื้นที่ในร่มของอาคารจำนวน 1% ที่ปกคลุมด้วยพืช โดยเป้าหมายนี้ถูกจัดอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวกับจิตใจ มากกว่าประเด็นเกี่ยวกับอากาศ ซึ่งชี้ว่าประโยชน์ของพืชในร่ม มีผลต่อสุขภาพจิตมากกว่ามีผลในเรื่องคุณภาพทางอากาศ
"พืชยังผลให้เกิดความรู้สึกสงบ" รองผู้อำนวยการสำนักงานคันดอลล์ กล่าว
ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศก็ยังสนับสนุนการปลูกพืชในร่ม แต่ต้องไม่คาดหวังว่า ไม้กระถางเหล่านั้นจะแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศภายในบ้านหรืออาคารได้ทั้งหมด
ขอขอบคุณ : คริสติน โร , ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยีธุรกิจ
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.bbc.com/thai/articles/cd1ej99jdy8o