รูปที่ 1 (GETTY IMAGES) ภาพจำลองพยาธิปากขอในลำไส้
การที่ร่างกายของมนุษย์มีปรสิตอาศัยอยู่ แม้จะเป็นภาวะที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับคนรักสุขภาพส่วนใหญ่ แต่การมีปรสิตบางชนิดในลำไส้เช่นพยาธิปากขอ (hookworm) อาจเป็นผลดีต่อการบำรุงรักษาและฟื้นฟูระบบเผาผลาญหรือเมตาบอลิซึม (metabolism) จนสามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ของออสเตรเลีย ได้ทำการทดลองระดับคลินิกครั้งแรกของโลก โดยนำตัวอ่อนพยาธิปากขอในมนุษย์ (Necator americanus) ใส่เข้าไปในลำไส้เล็กของอาสาสมัคร 24 คน ก่อนจะติดตามดูผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของอาสาสมัครในระยะยาวเป็นเวลา 2 ปี
รายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ระบุว่าเมื่อเริ่มต้นทำการทดลองนั้น บรรดาอาสาสมัครต่างก็มีภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ในระดับสูงกันทุกคน ซึ่งภาวะนี้ทำให้เซลล์ร่างกายไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินที่หลั่งออกมาเมื่อคนเรากินอาหาร จนในที่สุดเซลล์ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงาน และคงเหลือตกค้างอยู่ในกระแสเลือดปริมาณมาก อันเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานประเภทที่ 2
อย่างไรก็ตามเมื่อการทดลองสิ้นสุดลง ทีมผู้วิจัยพบว่าอาสาสมัครทั้ง 24 คน ต่างมีระบบเผาผลาญหรือเมตาบอลิซึมที่ดีขึ้น โดยมีภาวะดื้ออินซูลินลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองที่ได้รับยาหลอก (placebo)
รูปที่ 2 (GETTY IMAGES) ภาพขยายพยาธิปากขอจากกล้องจุลทรรศน์
พยาธิปากขอซึ่งเป็นปรสิตชนิดหนอนตัวกลม อยู่คู่กับมนุษยชาติมาแสนนานนับแต่เผ่าพันธุ์ของเราเริ่มมีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้คนส่วนใหญ่ที่มีพยาธิปากขอในลำไส้ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ยกเว้นคนส่วนน้อยที่อาจมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง ทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร หรือโลหิตจางได้
ส่วนอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มีอาการท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสียเล็กน้อยในระยะแรก แต่อาการเหล่านี้สามารถจะหายไปได้เองในเวลาไม่นานนัก
เมื่อสิ้นสุดการทดลองในปีแรก อาสาสมัครที่ได้รับการปลูกถ่ายตัวอ่อนพยาธิปากขอ 20 ตัว มีค่าของระดับภาวะดื้ออินซูลิน (HOMA-IR) ลดลงจาก 3.0 หน่วย มาเป็น 1.8 หน่วย ส่วนอาสาสมัครที่ได้รับการปลูกถ่ายตัวอ่อนพยาธิปากขอ 40 ตัว มีค่าดังกล่าวลดลงจาก 2.4 หน่วย มาอยู่ที่ 2.0 หน่วย ส่วนผู้ที่ได้รับยาหลอกมีภาวะดื้ออินซูลินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.8 หน่วย
ผลการศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่มีผู้ทำไว้ก่อนหน้าเมื่อปี 2021 ซึ่งพบว่าผู้ที่มีพยาธิปากขอในลำไส้จะมีชีวนิเวศจุลชีพ (microbiome) หรือองค์ประกอบทางพันธุกรรมของจุลินทรีย์ชนิดดีในร่างกายที่แตกต่างหลากหลายกว่า และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมได้มากกว่า
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ยังพบว่า เมื่อมีการถ่ายพยาธิออกจากร่างกาย ภาวะดื้ออินซูลินของคนผู้นั้นจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและหลอดเลือดเกิดการอักเสบ จนเป็นที่มาของโรคเบาหวานรวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งมีการระบาดของหนอนปรสิตในวงกว้าง มักจะไม่ค่อยมีโรคของระบบเผาผลาญและมีภาวะอักเสบในร่างกายต่ำ
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.bbc.com/thai/articles/cj5dqn60zyjo