ม.มหิดล-ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติร่วมสร้างแหล่งค้นคว้าล้ำค่า

ม.มหิดล - ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติร่วมสร้างแหล่งค้นคว้าล้ำค่าทางพฤกษศาสตร์พืชสมุนไพรและเครื่องยาสร้างสมดุลมนุษย์-ธรรมชาติอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อโลกคงอยู่สืบไป


รศ.ดร.ณัฏฐนียาโตรักษาผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของภารกิจสำคัญในการร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ภายใต้"ศูนย์อ้างอิงทางพฤกษศาสตร์พืชสมุนไพรและเครื่องยา" ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลและการจัดเก็บตัวอย่างพืชและทรัพยากรชีวภาพที่พบในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้แก่ฐานข้อมูลชนิดพรรณไม้มีชีวิต (Living Collection) ที่ปลูกรวบรวมในอุทยาน 923 ชนิดฐานข้อมูลชนิดพืชที่ขยายพันธุ์หรือปรับปรุงพันธุ์ผ่านห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสมุนไพร 90 ชนิดและผ่านโรงเรือนเพาะชำ 138 ชนิด

                     และฐานข้อมูลตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (Herbarium Specimens) ที่เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยมหิดล 1,952 ตัวอย่างซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลพืช และทรัพยากรชีวภาพเหล่านี้จะดำเนินการร่วมกับธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ เพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างยั่งยืนในการสร้างสรรค์ให้ศูนย์อ้างอิงทางพฤกษศาสตร์พืช สมุนไพรและเครื่องยาเกิดการบูรณาการอย่างครบวงจร โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติได้ผนึกกำลังร่วมกับส่วนงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลอาทิภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์สถาบันโภชนาการตลอดจน 3 วิทยาเขตในส่วนภูมิภาคได้แก่กาญจนบุรีนครสวรรค์และอำนาจเจริญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในระยะยาว
                   นอกจากนี้บนพื้นที่ 140 ไร่ของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติป่าสมุนไพรในเมืองแห่งนี้ยังอุดมไปด้วยต้นไม้ยืนต้นจำนวนถึง 1,968 ต้นที่มากด้วยศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนลดโลกร้อนเป็นสัดส่วนหลักของพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายาอีกด้วย

                   เป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการข้อมูลและการจัดเก็บตัวอย่างพืชสมุนไพร สามารถต่อยอดสู่การถอดบทเรียนจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะบุคลากรตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกการเก็บรักษาไปจนถึงเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกรและชุมชนเพื่อการใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรอย่างยั่งยืนซึ่งสามารถขยายผลได้ต่อไปในวงกว้าง
                  และในที่สุดถนนข้อมูลพืชสมุนไพรในประเทศไทยทุกสายจะเชื่อมโยงถึงกัน โดยมีศูนย์อ้างอิงทางพฤกษศาสตร์พืชสมุนไพรและเครื่องยาโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดลเป็น"แกนหลัก"ที่จะไม่ทำให้ผู้ใดผิดหวังเมื่อใดก็ตามที่ต้องการข้อมูลพืชสมุนไพรนึกถึงอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา


ภาพจาก :โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติมหาวิทยาลัยมหิดล